ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

บทเรียนสำเร็จรูป

การพัฒนานวัตกรรมในปัจจุบันแห่งศตวรรษที่ 21 ในยุคหลังนวยุค (Post Modern) อันเป็นยุคแห่งปัญญาซึ่งต้องแข่งขันและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วยความฉลาดทางปัญญาที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อประสิทธิผลแก่ชีวิตอย่างมีคุณภาพที่สุด มิใช่ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดอีกต่อไป แก่นแห่งปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน การตระหนักรู้ในโลกที่เป็นพลวัต ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ทุกการสร้างสรรค์บนฐานของงานวิจัยใดก็ตามมักจะมีการทำลายล้างแฝงเร้นอยู่เสมอ ดังนั้นการใช้พลังแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมจึงจะต้องดำเนินการอย่างมีสติคำนึงถึงผลได้ ผลเสีย ให้คุ้มกับทรัพยากรที่ลงทุนไป
บทเรียน e_Learning ซึ่งพัฒนาขึ้นมาในรูปบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAL - Computer Assisted Learning หรือ CAI - Computer Assisted Instruction) จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ อันเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาทางสติปัญญา โดยคำนึงถึงความแตกต่าง และธรรมชาติของจริตที่หลากหลายในการเรียนรู้ของมนุษย์ การเรียนรู้ โดยผ่านสื่อประสม(Mutimedia) e-Learning เป็น Platform ที่สมจริงสอดคล้องกับสถานการณ์ของการเรียนรู้ เพราะเป็นการบูรณาการทั้งสิ่งเร้าภายใน และ ภายนอก การตอบสนองและการเสริมแรงที่เหมาะสมผสมผสามเข้าไปในกระบวนการโดยผู้เรียนสามารถควบคุมบทเรียนได้ด้วยตนเอง ย่อมเป็นการเอื้อโอกาสอย่างเหมาะสมต่อประสิทธิภาพของกระบวนการเรียนการสอนและก่อประสิทธิผลสูงสุดในการเรียนรู้ให้ปัจเจกชนได้เป็นอย่างดี เป็นวิถีการเรียนรู้ที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บนความมีอิสระ เป็น Active Life มิใช่ Passive Life สนองตอบต่อความหลากหลายที่งดงามในชีวิตแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างเหมาะสม
เนื่องจากบทเรียน CAL เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของบทเรียนแบบโปรแกรม หรือบทเรียนสำเร็จรูป (Programmed Lesson) ดังนั้นผู้พัฒนาจึงควรมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี
บทเรียนสำเร็จรูป เป็นนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ
1. ผู้เรียน และ ผู้สอน มีปริมาณไม่สมดุลกัน
2. รัฐไม่มีเงิน (งบประมาณ) มาสร้างอาคารเรียนให้เพียงพอกับความต้องการได้
ดังนั้นจึงต้องให้แบบเรียนชนิดที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลที่ผู้พัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปควรต้องรู้ ในที่นี้ผู้เขียนจะเรียบเรียงลำดับสาระนำเสนอดังนี้

1. ความหมาย บทเรียนสำเร็จรูปเป็นสื่อการสอนแบบหนึ่งซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และเรียนได้เร็วหรือช้าตามความสามารถของแต่ละบุคคลโดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยกัน การเรียนนั้นผู้เรียนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของบทเรียนนั้นอย่างเคร่งครัดและด้วยความซื่อสัตย์

2. ลักษณะของบทเรียน
1) เป็นความรู้ย่อย ๆ ซึ่งเรียงลำดับไว้เป็นอย่างดีเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนไปทีละน้อย ๆ จากสิ่งที่รู้แล้วไปยังสิ่งที่รู้ใหม่ เป็นการเร้าความสนใจของนักเรียนไปในตัว
2) ผู้เรียนต้องปฏิบัติหรือตอบคำถามแต่ละกรอบ(frame) ไปตามวิธีที่กำหนดให้
3) นักเรียนจะได้ทราบผลการตอบทันทีโดยในบทเรียนจะมีคำตอบไว้ให้
4) ผู้เรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเองโดยไม่จำกัดเวลา การใช้เวลาศึกษาบทเรียนขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสามารถของแต่ละบุคคล

3. จิตวิทยาพื้นฐาน
บทเรียนสำเร็จรูปยึดถือหลักจิตวิทยาของ
1) S-R Theory ของ Thorndike โดยยึดหลัก "การเร้าและการตอบสนอง"
เร้า : ให้ความรู้
ตอบสนอง : ผู้เรียนลงมือทำ
Thorndike เชื่อว่า "ความสำเร็จหรือการตอบสนองที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ต่อไป"
2) Reinforcement Theory ของ Skinner โดยยึดหลักการเสริมแรงเพื่อให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจที่จะเรียนต่อ การเสริมแรงในบทเรียนสำเร็จรูปใช้การเฉลยคำตอบให้ทราบผลว่า ถูก หรือ ผิด ทันที
Skinner พยายามหาวิธีเพื่อไม่ให้เกิดการตอบสนองที่ผิดพลาดโดยวิธีให้ความต่อเนื่องทีละขั้นอย่างละเอียด
นอกจากนี้ Hull ยังให้ความเห็นเสริมกับ Skinner ว่า การเสริมแรงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้

4. ประเภทของบทเรียนสำเร็จรูป
บทเรียนสำเร็จรูป แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Linear Programming และ Branching Programming

5. ขั้นตอนในการเขียนบทเรียนสำเร็จรูป
1) วางแผนทางวิชาการ
1.1) กำหนดเนื้อหาวิชา และ ระดับชั้น
1.2) ตั้งจุดมุ่งหมาย
1.3) วิเคราะห์เนื้อหา เป็นการแตกเนื้อหาให้ละเอียด เรียงลำดับจากง่ายไปยากโดยวิธีวิเคราะห์ภาระกิจ(Task Analysis) เพื่อ
ป้องกันไม่ให้เนื้อหาที่จะเรียนนั้นกระโดดห่างกันอันเป็นเหตุให้ผู้เรียนไม่เข้าใจ
1.4) สร้างแบบทดสอบ
2) ขั้นดำเนินการเขียน
2.1) เขียน Criterion Frame
2.2) เขียน Teaching Frame
2.3) นำออกทดลองใช้เป็นบุคคล
2.4) นำออกใช้กับกลุ่มเล็ก
2.5) นำออกใช้กับห้องเรียน
3) ขั้นการใช้ผลิตผล เป็นการนำออกใช้และปรับปรุงเพิ่มเติม


5. การเขียนบทเรียน
เขียนไปทีละเนื้อหา (ที่วิเคราะห์ไว้ดีแล้ว)
1) เขียน Criterion Frame (CF) เขียนกรอบสุดท้ายของแต่ละเนื้อหาย่อย ๆ เพื่อให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม ดังนั้เนื้อหาแต่ละเรื่องอาจมีหลาย CF และนำไปไว้ท้ายกรอบสอน
2) เขียน Teaching Frame (TF) การเขียนกรอบสอนโดยเขียน Set Frame (SF) ซึ่งเป็นการเริ่มให้ความรู้ในเนื้อหาที่จะเรียนซึ่งเรียกว่า Prompt SF ----->PF โดยที่ PF คือ Practice Frame

(ควรศึกษาตัวอย่าง รูปแบบการเขียนFrames ต่าง ๆ จาก ตำรา/หนังสือ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง)

6. การนำออกทดลองใช้(Try out) และปรับปรุงแก้ไข(Revision)
เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้ผู้เขียบบทเรียนทราบข้อบกพร่องต่าง ๆ เมื่อนำออกใช้เพื่อจะได้นำกลับมาปรับปรุงแก้ไขต่อไปซึ่งมีหลายวิธี
6.1) นำออกมาทดลองรายบุคคลและปรับปรุงแก้ไข (One to one testing or Individual try out and Revised) ควรเลือกเด็กที่เรียนอ่อนหรือปานกลาง อาจพิจารณาจากผลการเรียนของเด็ก เพราะว่าถ้าเด็กเรียนอ่อนเรียนได้ก็ย่อมมั่นใจว่าเด็กฉลาดย่อมไม่มีปัญหา ก่อนเรียน Pretest ก่อนเพื่อทดสอบความรู้ หลังเรียนจบก็ Posttest เพื่อดูการพัฒนาการของความรู้
ในขณะกำลังเรียนบทเรียน เราต้องคอยสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตามไปด้วยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขและปรับปรุงบทเรียนต่อไปแต่อย่าให้ผู้เรียนรู้เพื่อจะทำให้เกิดความวิตกกังวล
การทดลองรายบุคคลนี้จะต้องทำไปทีละคน ประมาณ 3-4 คน เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็นำมาปรับปรุงแก้ไข
การปรับปรุงแก้ไขบทเรียน
(1) ปรับปรุงความถูกต้องของเนื้อหา (Technical accuracy) ให้ผู้เชี่ยวชาญเนื้อหาวิชานั้นโดยเฉพาะช่วยตรวจดูความถูกต้อง
ของเนื้อหา
(2) การแก้ไขทางเทคนิคการเขียน(Programming Technique) เช่น แก้ไขไม่ให้ Frame กระโดดข้ามจนผู้เรียนไม่เข้าใจ
Fame ถี่เกินไปจนน่าเบื่อ Frame ฝึกฝนน้อยเกินไป จนผู้เรียนไม่เข้าใจเนื้อหา
ต้องปรึกษากับผู้ชำนาญการเขียนบทเรียนโปรแกรมด้วย
(3) การแก้ไขภาษา (Composition) ภาษาอาจอ่านเข้าใจยาก หรือเกิดความสับสน การแบ่งวรรคตอนไม่ดีทำให้ผู้อ่านงง ความ
เหมาะสมของตัวอย่างอื่น ๆ ต้องแก้ไขโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
6.2) การทดลองเป็นกลุ่มเล็กและปรับปรุงแก้ไข (Small group testing or group tryout Revised) อาจจัดเป็นกลุ่มละ 5-10 คน ต้องบันทึกผลเพื่อนำมาปรับปรุง ก่อนทดลองต้อง pretest หลังต้อง posttest
6.3) การทดลองกับห้องจริงและปรับปรุงแก้ไข (Field Testing or Field tryout and Revised) มีการบันทึกรายละเอียดเพื่อนำข้อมูลไว้เป็นหลักฐานในการปรับปรุงบทเรียนต่อไปเพราะว่าในอนาคตบทเรียนนี้อาจต้องแก้ไขอีกเนื่องจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปนั่นเอง
ในการทดลองกับกลุ่มเล็กและห้องเรียนจริง หลังจากผู้เรียนเรียนบทเรียนเสร็จแล้วผู้ทดลองควรซักถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เขาพบในการเรียนบทเรียนด้วยแล้วบันทึกไว้ในช่อง "บันทึกพฤตืกรรมเพิ่มเติม" เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงบทเรียนได้อีกทางหนึ่ง


ึ7. ขั้นใช้ผลิตผล (Implementation)
เป็นขั้นที่นำบทเรียนสำเร็จรูปที่ได้ทดลองครบตามขบวนการมาใช้กับผู้เรียนทั่วไป ผู้สร้างต้องคอยฟังผลจากผู้เรียนเสมอเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงต่อไปเพื่อให้บทเรียนนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

E1/E2 หรือ E1 :E2 เกี่ยวอะไรกับอัตราส่วน

ในการพัฒนานวัตกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อการเรียนการสอน หรือ วิธีสอนก็ตาม ต้องมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปนิยมนำเสนอในรูป E1/E2 (อ่าน E1 ทับ E2) และ/หรือ E1:E2 (อ่าน E1 ต่อ E2) หลายท่านอาจจะเข้าใจผิดคิดว่ามันอยู่ในรูปเศษส่วน หรือ อัตราส่วน แท้ที่จริงแล้วสัญลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับเศษส่วนหรืออัตราส่วนเลย มันเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่นำมาเสนอเพื่อการสื่อสารให้ทราบถึงประสิทธิภาพของนวัตกรรมดังกล่าวว่ามีผลเป็นเช่นใด โดยที่ E1 ตัวแรกแสดงประสิทธิภาพ (Effective) ของกระบวนการซึ่งอยู่ในรูปค่าเฉลี่ยร้อยละของคะแนนจากแบบฝึกทั้งหมด ส่วน E2 แสดงประสิทธิภาพของผลโดยรวมซึ่งอยู่ในรูปค่าเฉลี่ยร้อยละของแบบทดสอบหลังการใช้นวัตกรรม
ผู้พัฒนานวัตกรรมอาจไม่เขียนแสดงประสิทธิภาพในรูป E1/E2 ก็ได้ เช่น อาจเขียนในรูป 80, 80 หรืออาจจะเขียนว่าใช้เกณฑ์ 80% ทั้งกระบวนการและผลโดยรวมก็ได้
เกณฑ์ประสิทธิภาพ E1/E2 โดยทั่วไปนิยมเขียนตัวเลข หน้า และ หลังเป็นตัวเดียวกัน เช่น 80/80, 90/90 เป็นต้น แต่นั่นมิใช่ข้อกำหนดตายตัว ผู้พัฒนานวัตกรรมอาจจะตั้งเป็น 80/90 ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตั้งเกณฑ์ดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตามในการตั้งเกณฑ์ประสิทธิภาพ (บางครั้งอาจใช้คำว่าเกณฑ์มาตรฐาน) ของนวัตกรรมนั้นไม่ควรตั้งให้ต่ำกว่า
70 / 70

นอกจากจะวัดประสิทธิภาพของนวัตกรรมแล้ว ผู้พัฒนาฯจะต้องพิจารณาประสิทธิผล ซึ่งเป็นความสามารถในการให้ผลอย่างชัดเจน แน่นอน ของนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น ซึ่งนิยมวิเคราะห์และแปลผลได้ 2 วิธี คือ

1.จากการพิจารณาผลของการพัฒนาด้วยการเปรียบเทียบระหว่างจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายด้วยการ pretest และ posttest
เปรีบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนและหลังการใช้นวัตกรรมโดยใช้สถิติที(t-test)แบบกลุ่มสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้นำไปอ้างอิงถึงกลุ่มอื่น ๆ ห้องอื่น ๆ และในรุ่นหลัง ๆ ด้วย (มุ่งขยายผล) จึงต้องวิเคราะห์โดยใช้การทดสอบสมมติฐานด้วยการสถิติเชิงอนุมานเพื่อการอ้างอิงไปยังประชากร

2. จากการหาดรรชนีประสิทธิผล (Effective Index) ซึ่งอยู่ในรูปอัตรส่วนดังสูตรต่อไปนี้
ดรรชนีประสิทธิผล = (ผลรวมของคะแนนหลังเรียนทุกคน - ผลรวมของคะแนนก่อนเรียนทุกคน) หารด้วย
(จำนวนนักเรียนxคะแนนเต็ม - ผลรวมของคะแนนก่อนเรียนทุกคน)

หมายเหตุ
ในการวิจัยโดยทั่วไป ยึดหลักต่อไปนี้ว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาด เล็ก กลาง และใหญ่
ขนาดเล็ก 5-20 หน่วย
ขนาดกลาง 21-40 หน่วย
ขนาดใหญ่ 41 หน่วยขึ้นไป

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

เกณฑ์การแปลผลที่เหมาะสมที่สุดของ Rating Scale

เนื่องจากในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และการศึกษา มักจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบมาตรส่วนประมาณค่า (Rating Scale) เพื่อรวบรวมข้อมูลจากประชากร และ/หรือกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาและนำมาวิเคราะห์แล้วแปลผลโดยใช้สถิติและเกณฑ์ในการแปลผลได้ในหลายลักษณะ เช่น การแปลผลในรูปร้อยละ หรือ เปอร์เซนต์ แต่ถ้าต้องการทราบผลโดยสรุปอย่างกระชับชัดเจนถึงระดับความคิดเห็นของกลุ่มที่ศึกษามากขึ้นกว่าการแปลผลโดยใช้ร้อยละซึ่งมิอาจสนองตอบต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ได้จำเป็นต้องใช้วิธีการอื่นซึ่งวิธีที่นิยมใช้กันคือการใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต
การแปลผลโดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตนั้นจะทำได้โดยกำหนดคะแนนแทนน้ำหนักให้แต่ละช่วงของระดับความคิดเห็นแล้วคำนวณค่าเฉลี่ย และนำค่าเฉลี่ยที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์การแปลความหมาย ซึ่งการหาค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปก็มักจะใช้ผลรวมของผลคูณระหว่างค่าน้ำหนักของแต่ละระดับกับค่าความถีในระดับนั้น แล้วหารด้วยความถี่ทั้งหมด
ในการกำหนดเกณฑ์ของการแปลความหมายนั้นทำได้หลายแบบ ดังนี้

แบบที่ 1 :
ค่าเฉลี่บ ความหมาย

4.21 - 5.00 มากที่สุด
3.41 - 4.20 มาก
2.61 - 3.40 ปานกลาง
1.81 - 2.60 น้อย
1.00 - 1.80 น้อยที่สุด
การกำหนดเกณฑ์เช่นนี้ ยึดหลักว่า ให้ช่วงห่างหรือพิสัยของคะแนนทุกระดับเท่ากัน ซึ่งเมื่อกำหนดน้ำหนักคะแนนระดับมากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และ น้อยที่สุด เป็น 5, 4, 3, 2 และ 1 ตามลำดับ ก็จะได้พิสัยเป็น 5-1 = 4 เฉลี่ยแต่ละช่วงห่างกัน
4/5 = 0.8
ถ้าการคำนวณค่าเฉลี่ยจากข้อมูลที่ได้เป็นจำนวนเต็มก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่ถ้าค่าที่ได้เป็นเลขทศนิยมก็จะต้องมีการปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม เช่น 1.65 ก็ปัดเป็น 2 เพราะมีค่าใกล้ 2 มากกว่า 1 ก็ยังมีความชัดเจนไม่เกิดข้อถกเถียง
เมื่อมาใช้เกณฑ์ตามแบบที่ 1 ที่ทุกระดับมีช่วงห่างของคะแนนเท่ากันอาจก่อให้เกิดการขัดกับหลักของการปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็มดังที่กล่าวมาข้างต้น เช่น เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยเป็น 1.80 ก็จะแปลความตามเกณฑ์ที่กำหนดว่าอยู่ในระดับน้อยที่สุด ทั้ง ๆ ที่ 1.80 เมื่อปัดเศษเป็นจำนวนเต็มจะเป็น 2 ซึ่งตรงกับระดับน้อยทำให้ขัดแย้งกัน แสดงว่าการใช้เกณฑ์ตามแบบที่ 1 อาจจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้ในบางค่าเฉลี่ยที่คำนวณได้
เพื่อประนีประนอมเงื่อนไขดังกล่าวนี้จึงนำการกำหนดน้ำหนักประจำของแต่ละระดับมาบูรณาการร่วมกับหลักการปัดเศษทศนิยมให้เป็นจำนวนเต็มโดบกำหนดเกณฑ์การแปลผลเป็นแบบที่ 2 ดังนี้
แบบที่ 1 :
ค่าเฉลี่บ ความหมาย

4.50 - 5.00 มากที่สุด
3.50 - 4.49 มาก
2.50 - 3.49 ปานกลาง
1.50 - 2.49 น้อย
1.00 - 1.49 น้อยที่สุด
เกณฑ์แบบที่ 2 นี้ ช่วงระดับคะแนนมากที่สุดกับน้อยที่สุดจะมีน้อยกว่าระดับอื่น โดยช่วงคะแนนมากที่สุด และน้อยที่สุดช่วงละประมาณ 0.5 แต่ในช่วงอื่น ๆ ประมาณ 1 จะเห็นว่า คะแนนเฉลี่ย 1.80 ก็จะตกอยู่ในระดับน้อย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการปัดเศษ
แต่แม้นแบบที่ 2 จะสอดคล้องกับหลักทั่วไปของการปัดเศษ แต่ ณ คะแนนเฉลี่ยเป็น 4.50, 3.50, 2.50 และ 1.50 ก็เป็นจุดที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน เช่น 4.50 ถูกปัดเป็น 5 ในระดับมาก ทั้ง ๆ ที่ 4.50 มีระยะห่างจาก 5 กับ ห่างจาก 4 เป็นระยะที่เท่ากัน อาจมีข้อคำถามขึ้นว่าทำไมไม่ปัดเป็น 4 ล่ะ?? แล้วจะตอบเช่นไร

ดังนั้นเกณฑ์การแปลความหมายที่เหมาะสมที่สุดปิดข้อโต้แย้งทั้งหมดโดยพัฒนาจากแนวคิดทั้งสองแบบดังกล่าว เป็นดังนี้
แบบที่ 1 :
ค่าเฉลี่บ ความหมาย

4.51 - 5.00 มากที่สุด
3.51 - 4.50 มาก
2.51 - 3.50 ปานกลาง
1.51 - 2.50 น้อย
1.00 - 1.50 น้อยที่สุด



=================================================================

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

ประเด็นหลักในการประเมินสื่อเทคโนโลยี ประเภทคอมฯช่วยสอน

ในการตรวจประเมินสื่อเทคโนโลยี ประเภทคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้น กรมวิชาการใช้เกณฑ์การตรวจตามแบบการตรวจประเมินคุณภาพสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนของกรมวิชาการ ปีการศึกษา 2541 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่กระทรวงศึกษาแต่งตั้งขึ้น โดยมีประเด็นหลักในการตรวจประเมินดังนี้
1. ส่วนนำของบทเรียน เร้าความสนใจ มีข้อมูลพื้นฐานบทเรียนที่จำเป็น มีเส้นทางการเดินของบทเรียนเหมาะสม
2. ส่วนเนื้อหาสาระของบทเรียน พิจารณาด้านความถูกต้อง ความสอดคล้องกับหลักสูตรสัมพันธ์ต่อเนื่อง ความยาวและความยากง่ายเหมาะสม ความถูกต้องของการใช้ภาษา การสื่อความหมายชัดเจน ไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ
3. ส่วนการออกแบบระบบการเรียนการสอน มีความเหมาะสม ออกแบบด้วยการคิดเชิงตรรกะที่ดี พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีความยืดหยุ่น สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล มีกลยุทธ์การถ่ายทอดเนื้อหาที่น่าสนใจ
4. ส่วนประกอบมัลติมีเดีย การออกแบบหน้าจอมีความเหมาะสม ง่ายต่อการใช้ ภาพประกอบ ขนาด สี ตัวอักษร เสียง ดนตรี ชัดเจนและเหมาะสม บทเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้เรียนสามารถควบคุมเส้นทางการเดินของบทเรียน และการให้ผลย้อนกลับผู้เรียนเหมาะสม
5. ส่วนประเมินการเรียนรู้ สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ ความยากง่ายพอเหมาะ ส่งเสริมทักษะการคิดการประยุกต์ใช้ มีรูปแบบหลากหลาย และมีปริมาณเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจบทเรียนด้วยตนเองได้ และสามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนได้
6. องค์ประกอบทั่วไป ติดตั้งง่าย สะดวกเหมาะสมกับฮาร์ดแวร์ในปัจจุบัน

ในการประเมินสื่อดังกล่าวนี้ ทั้งในระดับก่อนวัยเรียน ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลที่การตรวจประเมินฯผ่านและไม่ผ่านดังนี้
1. เหตุผลส่วนใหญ่ของสื่อฯที่ตรวจประเมินผ่าน คือ มีคะแนนเฉลี่ยผ่าน คือ ตามเงื่อนไขของการตรวจประเมินฯ นำเสนอเนื้อหาน่าสนใจ ให้ประโยชน์ในการเรียนรู้ นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ได้ มีจ้อผิดพลาดน้อยและไม่เป็นประเด็นสำคัญ
2. เหตุผลส่วนใหญ่ของสื่อฯ ที่ตรวจประเมินไม่ผ่าน คือไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินฯ ตามแบบการตรวจประเมินฯของกรมวิชาการในประเด็นหลัก เช่น ความถูกต้องของเนื้อหา การใช้ภาษาไม่ชัดเจน ไม่สื่อความหมาย การนำเสนอเนื้อหาไม่ตรงประเด็นตามวัตถุประสงค์ที่นำเสนอ การทดลองทางแบบวิทยาศาสตร์ไม่ชัดเจน นำไปปฏิบัติได้ยาก ภาพประกอบ เสียง ไม่สอดคล้องกับเนื้อหา แบบฝึกหัด แบบทดสอบ ไม่ถูกต้องเหมาะสม ปัญหาข้อผิดพลาดการออกแบบของโปรแกรม(bug) รวมทั้งการจัดทำที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ขาดการตรวจสอบก่อนส่งเข้ารับการประเมินฯ
นอกจากนี้ยังมีสื่อที่ตรวจประเมินไม่ผ่าน มีโครงสร้างการนำเสนอเนื้อหาเร้าความสนใจได้ดี เทคนิคการออกแบบนำเสนอดีแต่ยังมีข้อผิดพลาดที่จำเป็นต้องแก้ไข เช่น ความถูกต้องของเนื้อหา ความชัดเจนของการใช้ภาษา การอธิบายที่ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหา ความชัดเจนของการทดลอง สื่อฯแต่ละโปรแกรมมีจุดบกพร่องที่แตกต่างกันหากได้รับการปรับปรุงแก้ไขก็จะผ่านการประเมินได้




อ้างอิง : สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2541
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ