ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คัพท์ศาสตร์การสอน





ในภาคเรียนที่ 1/53 นี้ ครูพีรับหน้าที่ในการสอนวิชา "คณิตศาสตร์ศึกษา" รหัส 4095601 ซึ่งเป็นวิชาแกนบังคับในหลักสูตร ปริญญาโทคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ให้ผู้เรียนได้ตระหนักรู้ในปรัชญาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ มีความรู้ ความเข้าใจในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อพัฒนาหลักสูตร เนื้อหา และตำราคณิตศาสตร์ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
เนื่องจากในการสืบค้นข้อมูลเพื่อประกอบการรายงานและ/หรืออภิปรายนั้น ผู้ศึกษาจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ซึ่งเป็นแนวคิดในศาสตร์การสอนอันอาจจะเป็นฉนวนปิดกั้นทำให้ไม่อาจหยั่งเห็นบริบทของเรื่องราวที่กำลังศึกษาได้ถ้าหากไม่เข้าใจในคำศัพท์ซึ่งเป็นหลักมูลฐานก่อน ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นคว้าครูพีจึงนำเสนอแนวคิดของคำศัพท์สำคัญตามลำดับดังนี้

1. ศาสตร์การสอน(Science of Teaching)
หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้และการสอนที่สังคมโลกได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ซึ่งผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามเป้าหมาย จุดมุ่งหมาย และ วัตถุประสงค์ของการสอนที่กำหนด ความรู้ดังกล่าวได้มาจากการคิด การวิเคราะห์ของนักปราชญ์ และนักคิดทั้งหลาย หรือได้มาจากการศึกษาค้นคว้า ทดสอบ พิสูจน์ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาต่าง ๆ ข้อความรู้ดังกล่าวประกอบด้วย ปรัชญาการศึกษา บริบททางการสอน ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ระบบ รูปแบบ วิธีการ เทคนิค และจิตวิทยาทางการเรียนรู้และการสอน การวางแผนและออกแบบการจัดการเรียนการสอน การดำเนินการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล

2. ศิลปะการสอน (Art of Teaching)
หมายถึงความรู้และความสามารถในการนำจิตวิทยา วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ไปใช้ในการสอนเพื่อช่วยให้การสอนมีความน่าสนใจ สนุก มีชีวิตชีวา และช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ราบรื่นและมีความสุข

3. บริบททางการสอน (Teaching Context)
หมายถึงสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนซึ่งมีความสัมพันธ์/มีอิทธิพลต่อการสอน ทั้งในระดับจุลภาค(micro) ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ตัวผู้เรียนผู้สอนมากที่สุด ไปจนถึงระดับมหภาค (macro) ซึ่งเป็นระดับที่ไกลตัวผู้เรียนมากที่สุด เช่น สภาพทางจิตใจและความรู้ทางวิชาการของผู้สอน สภาพแวดล้อมทั้งภายในภายนอกตัวผู้เรียน บรรยากาศผู้บริหาร การบริหารงาน บุคลากรในโรงเรียน สภาพของโรงเรียน สภาพแวดล้อมในโรงเรียน ผู้ปกครอง บุคคลในชุมชน สภาพทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของชุมชน ทรัพยากรในชุมชน นโยบายและแผนการจัดการศึกษาระดับชาติ การบริหารการศึกษาระดับชาติ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าทางวิชาการของโลก เป็นต้น

4. ปรัชญาการศึกษา (Educational Pholosophy)
หมายถึงความคิด หรือระบบของความคิดที่เกี่ยวกับการศึกษาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาแม่บทปรัชญาใดปรัชญาหนึ่ง ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาทั่วไปอันเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต ปรัชญาการศึกษาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา การเห็นคุณค่าในความคิดทางการศึกษาใด ๆ ที่ผลักดันให้บุคคลคิดและกระทำการต่าง ๆ ในด้านการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับความเชื่อนั้น ๆ

5. ทฤษฎีการเรียนรู้ ( Learning Theory)
หมายถึงข้อความรู้ที่พรรณา อธิบาย ทำนาย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ ทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชืื่อถือได้ และสามารถนำไปนิรนัยเป็นหลักหรือกฎการเรียนรู้ย่อย ๆ หรือนำไปใช้เป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ ทฤษฎีโดยทั่วไปมักประกอบด้วยหลักการย่อย ๆ หลายหลักการ

6. หลักการเรียนรู้ (Learning Principle)
หมายถึงข้อความรู้ย่อย ๆ ที่พรรณา อธิบาย ทำนาย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ ทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และได้รับการยอมรับว่าเชืื่อถือได้ สามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ หลักการเรียนรู้หลาย ๆ หลักการอาจนำไปสู่การสร้างทฤษฎีการเรียรรู้ได้

7. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ (Concept/Approach on Learning)
คือความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่พรรณา อธิบาย ทำนาย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ที่นักคิด นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาได้นำเสนอและได้รับการียอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นแนวคิดที่น่าเชื่อถือด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

8. ทฤษฎีการสอน(Teaching/Instruction Theory)
คือข้อความรู้ที่พรรณา อธิบาย ทำนาย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางการสอนที่ได้รับการพิสูจน์ การทดสอบ และการยอมรับว่าเชื่อถือได้ซึ่งนักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาอาจพัฒนาหรือแปลงมาจากทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ทฤษฎีการสอนหนึ่ง ๆ มักประกอบด้วยหลักการสอนย่อย ๆ หลายหลักการ

9. หลักการสอน (Teaching/Instruction Principle)
คือข้อความรู้ย่อย ๆ ที่พรรณา อธิบาย ทำนาย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางการสอนที่ได้รับการพิสูจน์ การทดสอบ และการยอมรับว่าเชื่อถือได้ สามารถนำไปใช้ในการสอนผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด หลักการสอนหลาย ๆ หลักการอาจนำไปสู่การสร้างทฤษฎีการสอนได้

10. แนวคิดทางการสอน (Teaching / Instructionnal Concept/Approach)
คือความคิดเกียวกับการสอนที่พรรณา อธิบาย ทำนาย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางการสอนที่นักคิด นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษา ได้นำเสนอและได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นแนวคิดที่น่าเชื่อถือด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

11. ระบบการสอน/ระบบการเรียนการสอน (Teaching/Instructional System)
คือองค์ประกอบต่าง ๆ ของการเรียนการสอนที่ได้รับการจัดให้มีความสัมพันธ์กันและส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

12. รูปแบบการสอน/รูปแบบการเรียนการสอน (Teaching/Instructional Model)
คือแบบแผนการดำเนินการสอนที่ได้รับการจัดเป็นระบบอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับทฤษฎี/หลักการเรียนรู้หรือการสอนที่รูปแบบนั้นยึดถือและได้รับการพิสูจน์ ทดสอบว่ามีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของรูปแบบนั้น ๆ โดยทั่วไปแบบแผนการดำเนินการสอนดังกล่าวมักประกอบด้วย ทฤษฎี/หลักการ ที่รูปแบบนั้นยึดถือและกระบวนการสอนที่มีลักษณะเฉพาะอันจะนำผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายเฉพาะที่รูปแบบนั้นกำหนดซึ่งผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นแบบแผนหรือแบบอย่างในการจัดและดำเนินการสอนอื่น ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะเช่นเดียวกันได้

13. วิธีสอน
คือขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปตามองค์ประกอบและขั้นตอนสำคัญอันเป็นลักษณะเด่นหรือลักษณะเฉพาะที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้น ๆ เช่น วิธีสอนโดยใช้การบรรยาย องค์ประกอบสำคัญของการบรรยายคือ เนื้อหาสาระที่จะบรรยาย และขั้นตอนสำคัญคือการเตรียมเนื้อหาสาระ การบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย) และการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการบรรยาย ดังนั้นวิธีสอนโดยใช้การบรรยายก็คือกระบวนการหรือขั้นตอนที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการเตรียมเนื้อหาสาระที่จะบรรยายแล้วบรรยายคือ พูด บอก เล่า อธิบาย เนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียนและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

14. เทคนิคการสอน
คือกลวิธีต่าง ๆ ที่ใช้เสริมกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ หรือการกระทำใด ๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการหรือการกระทำนั้น ๆ มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น เทคนิคการสอนจึงหมายถึงกลวิธีต่าง ๆ ที่ใช้เสริมกระบวนการสอน ขั้นตอนการสอน วิธีการสอน หรือการดำเนินการทางการสอนใด ๆ เพื่อช่วยให้การสอนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในการบรรยาย ผู้สอนอาจใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้การบรรยายมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การยกตัวอย่าง การใช้สื่อ การใช้คำถาม เป็นต้น

15. ทักษะการสอน
คือ ความสามารถในการปฏิบัติการสอนด้านต่าง ๆ อย่างชำนาญซึ่งครอบคลุมการวางแผนการเรียนการสอน การออกแบบการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอน การใช้วิธีสอน เทคนิคการสอน รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการสอน สื่อการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน รวมทั้งการใช้ทฤษฎีและหลักการเรียนรู้และการสอนต่าง ๆ

16. นวัตกรรมการสอน
คือสิ่งใหม่ที่ทำขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ดังนั้นนวัตกรรมการสอนจึงหมายถึง แนวคิด วิธีการ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนซึ่งอาจเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือใหม่เพียงบางส่วนหรืออาจเป็สิ่งใหม่ในบริบทหนึ่งหรือในช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจเป็นสิ่งใหไม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทดสอบ หรือได้รับการยอมรับนำไปใช้แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายหรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานปกติ

17. การวิจัยด้านการเรียนการสอน
คือ การศึกษาหาคำตอบให้แก่ปัญหา หรือ คำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอน ครอบคลุมตัวแปรเกี่ยวกับผู้เรียน ผู้สอน บริบทของการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอน และผลผลิตของการเรียนการสอน



ศัพท์เทคนิค หรือศัพท์ทางวิชาการที่ใช้ในวงการศึกษานั้นมีจำนวนมาก เนื่องจาก นักคิด นักการศึกษา หรือนักจิตวิทยาแต่ละคนก็พยายามกำหนดศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นใช้อธิบายความคิด ความเข้าใจของตน แม้บางครั้งความหมายอาจไม่แตกต่างไปจากศัพท์เดิมที่ใช้กันอยู่ ดังนั้นผู้อ่านหรือผู้ศึกษาศาสตร์ทางการศึกษาหรือการสอน ซึ่งควรอ่านอย่างวิเคราะห์ให้เข้าใจความหมายของศัพท์ที่ใช้เพื่อจะได้ไม่เกิดความสับสนในการสือ่ความหมายกับผู้อื่น เพราะบางครั้งศัพท์ที่แตกต่างกันอาจใช้ในความหมายเดียวกันได้ หรือในทำนองเดียวกันความหมายใดความหมายหนึ่งอาจมีผู้เรียกชื่อต่างกันก็ได้
แนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการสอนต่าง ๆ นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ปรัชญาการศึกษาช่วยชี้ทิศทางในการจัดการศึกษาและก่อให้เกิดทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยอธิบายธรรมชาติหรือลักษณะของการเรียนรู้ที่ดี ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาตามลำดับจากอดีตจนถึงปัจจุบันช่วยให้เกิดทฤษฎี หลักการ และแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจถึงธรรมชาติและลักษณะของกระบวนการเรียนรู้ที่ดีในแง่มุมต่าง ๆ กัน ทฤษฎี หลักการ และแนวคิดเกี่ยวกับการสอนทั้งของต่างประเทศและประเทศไทยที่สั่งสมมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ให้แนวทางที่หลากหลายในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน ครูสามารถเลือกทฤษฎี หลักการและแนวคิดต่าง ๆ มาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสมโดยคึงนึงถึงบริบททางการสอนซึ่งมีความสัมพันธ์โยงใยส่งผลต่อการเรียนการสอน
ครูอาจใช้ระบบการสอน หรือรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้ได้พัฒนามาจากทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้และการสอนต่าง ๆ หรืออาจพัฒนาระบบและรูปแบบการเรียนการสอนขึ้นใช้ตามความเหมาะสมก็ได้ รูปแบบการเรียนการสอนโดยทั่วไป ประกอบด้วยขั้นตอน หรือกระบวนการที่จะนำไปสู่วัตถุประสงค์เฉพาะของรูปแบบนั้น ซึ่งในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยวิธีสอนและเทคนิคการสอนต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้การดำเนินการตามกระบวนการสอนเป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นผู้สอนยังสามารถเลือกนวัตกรรมทางการเรียนการสอนต่าง ๆ รวมทั้งนำผลงานวิจัยทางด้านการเรียนการสอนมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนได้



อ้างอิง :
ทิศนา แขมมณี. ศาสตร์การสอนองค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.


หมายเหตุ ขอเพิ่มเติมความหมายของคำศัพท์ เกี่ยวกับการเรียนการสอนที่อาจมีหลายคนยังสับสน

1. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม :

หมายถึง วัตถุประสงค์ของการสอนที่กำหนดเป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้ชัดเจนว่า นักเรียนต้องแสดงพฤติกรรมอะไรได้บ้าง จึงจะถือว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น สอนการบวกเลขระดับประถมศึกษา ครูอาจกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมว่า เมื่อจบบทเรียนแล้วนักเรียนต้องทำแบบฝึกหัดการบวกเลขได้ถูกต้อง 5 ข้อ เป็นต้น

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สมบูรณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1. พฤติกรรมที่ชัดเจนหรือพฤติกรรมที่คาดหวังว่านักเรียนต้องทำได้ เมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ (พฤติกรรมที่สังเกตได้ชัดเจน) ส่วนใหญ่มักกำหนดเป็นคำกริยา
2. สถานการณ์หรือเงื่อนไขในการแสดงพฤติกรรม หมายถึงพฤติกรรมที่กำหนดไว้นั้น จะแสดงออกในสถานการณ์หรือเงื่อนไขใด
3. เกณฑ์ในการตัดสินหรือยอมรับว่าพฤติกรรมนั้นว่าถึงระดับเกิดการเรียนรู้แล้ว
ตัวอย่าง ของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมได้แก่
- นักเรียนชี้ตำแหน่งของเทือกเขาที่สำคัญในแผนที่ประเทศไทยได้ถูกต้อง 5 เทือกเขา
- นักเรียนตอบข้อสอบปรนัยมีตัวเลือกเรื่องสสารได้ถูกต้องอย่างน้อย 60 ข้อ จากข้อสอบทั้งหมด 100 ข้อ
- นักเรียนแต่งโคลงสี่สุภาพจากหัวข้อที่กำหนดให้ได้ถูกต้องในเวลา 10 นาที
ชี้ ตอบ และ แต่ง คือพฤติกรรมที่สังเกตได้ชัดเจน แผนที่ประเทศไทย ข้อสอบปรนัยแบบมีตัวเลือกเรื่องสสาร และ หัวข้อที่กำหนด คือสถานการณ์ หรือเงื่อนไขที่กำหนดให้แสดงพฤติกรรม 5 เทือกเขา 60 ข้อ จาก 100 ข้อ และ 10 นาที คือเกณฑ์การตัดสินพฤติกรรมว่าเกิดการเรียนรู้แล้ว

2. ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้แต่ละปีหรือแต่ละภาคซึ่งเรานิยมเขียนแสดงไว้ในคำอธิบายรายวิชา เวลาเขียนต้องให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ มีคำกริยาที่แสดงสมรรถนะความรู้ (K-Knowledge) แสดงความสามารถที่เป็นทักษะกระบวนการ (P-Process) และแสดงคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม (A-Attitude) อย่าง เช่น
1. อ่าน คำที่มีอักษรนำ อักษรควบ คำที่มีตัวการันต์ และการผันวรรณยุกต์ได้ถูกต้อง อ่านได้ชัดเจน จำคำได้แม่นยำและเข้าใจหลักการอ่าน นำไปสู่การเขียนคำได้ถูกต้อง
2. เขียนอย่างมีมารยาทโดยใช้ภาษาที่สุภาพรับผิดชอบต่อการเขียน และใช้แหล่งอ้างอิง และมีนิสัยรักการเขียน
จะ เห็นว่าข้อ 1 มีทั้ง K และ P ส่วน ข้อ 2 แสดง A ซึ่งในขณะเดียวกันก็มี K และ P ซ่อนอยู่ด้วย

3. จุดประสงค์การเรียนรู้ คำนี้กำหนดไว้เพื่อเป็นขอบเขตในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแผนการจัดการ เรียนรู้นั้น ๆ และมุ่งให้เกิดผลในแต่ละรายการที่ระบุ การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ควรแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของการเรียนรู้ที่ เป็นภาระงานและพฤติกรรมที่ผู้เรียนพึงแสดงออกในระดับต่าง ๆ ที่สำคัญนั้นจุดประสงค์การเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านความรู้ (K-Knowledge) ทักษะ/กระบวนการ((P-Process) และคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม (A-Attitude) ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เห็นความสอดคล้องกันกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่ระบุไว้ข้างต้น ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้
1. อ่านสะกดคำ อ่านคำ ผันอักษรจากนิทานที่อ่าน และเข้าใจความหมาย
2. อ่าน เขียนคำ สำนวนโวหารจากเรื่องที่อ่านได้ถูกต้อง
3. นำคำมาแต่งประโยค เรียบเรียงประโยค ข้อความ ใช้สื่อความหมายได้ตรงตามจุดประสงค์และหลักเกณฑ์การเขียน
4. ใช้ห้องสมุดเพื่อค้นคว้าในการอ่านและเขียน มีนิสัยรักการอ่านและเขียน มีมารยาทในการใช้ห้องสมุด



ด้วยความปราถนาดี
ครูพี/