ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Maths/ปรนัย/หายนะ

สารบัญบทความ

บทความนี้ครูพีขอแสดงทัศนะเกี่ยวกับการนำเครื่องมือการวัดผลตัวหนึ่งที่เรียกว่า "ข้อสอบแบบปรนัย" หรือ "ข้อสอบแบบเลือกตอบ" มาใช้เพื่อการวัดประเมินผลทางคณิตศาสตร์ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้ในการปรับปรุงแก้ไขผู้เรียนเพื่อให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้หรือตัวชี้วัดที่กำหนด และ/หรือ การตัดสินผลการเรียนก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากครูผู้สอน นักวิจัย ทางด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นิยมใช้มากในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบนวัตกรรมต่าง ๆ ในการทดลอง หรือสำรวจ ตรวจสอบคุณภาพการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

โดยที่เนื้อหาสาระของคณิตศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่มีลักษณะเป็นนามธรรมที่ว่าด้วยความคิดและเหตุผล พูดง่าย ๆ ว่าเป็นศาสตร์ที่เสริมสร้างศักยภาพทางความคิดให้แก่ผู้เรียนได้อย่างวิเศษสุด สมกับคำกล่าวที่ว่า "เก่งคณิตศาสตร์ฉลาดทุกวิชา" สร้างคนให้เป็นคนที่ "คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเป็นสุข" พูดกันง่าย ๆ ว่า "เก่ง ดี มีความสุึข" และในมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็กำหนดไว้ในมาตรฐานด้านทักษะกระบวนการ ที่ผู้เรียนต้องมีคุณภาพทั้งด้านการแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมาย การนำเสนอ การเชื่อมโยง และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ล้วนเป็นคุณภาพสำคัญที่พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีความคิดเชิงวิเคราะห์ และมีวิจารณญาณบนฐานของข้อมูล และการให้เหตุผลเชิงตรรกยะที่สมเหตุสมผลแบบวิทยาศาสตร์ชนิดแบบ "พิสูจน์ วัด สัมผัสได้" แล้วการวัดและประเมินโดยมุ่งใช้ข้อสอบปรนัยเป็นหลักซึ่งง่ายต่อการตรวจให้คะแนนแต่บล็อกความคิดของคนว่ามันจะคุ้มกับการสูญเสียศักยภาพที่สำคัญของผู้เรียนคณิตศาสตร์ดังที่กล่าวมาเบื้องต้นหรือไม่

ในขณะนี้ข้อสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ ได้แพร่หลายในวงการศึกษาโดยทั่วไปของไทยอย่างกว้างขวางแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นขวัญใจของผู้ออกข้อสอบ และเป็นทักษะชีวิตสำคัญของผู้สอบ หรือนักเรียนเลยทีเดียว ครูอาจารย์จำนวนมากล้วนทราบถึงข้อดีของข้อสอบชนิดนี้และได้นำไปใช้ออกข้อสอบอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการเพิ่มมุมมอง และข้อสังเกตในการนำข้อสอบประเภทนี้ไปใช้ ครูพีจึงใคร่เสนอแนวคิดบางประการเกี่ยวกับข้อสอบประเภทนี้ ไว้ดังต่อไปนี้

ผลเสียของข้อสอบแบบเลือกตอบ
(1) ปิดโอกาสการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เรียน เนื่องจากข้อสอบประเภทนี้ผู้พัฒนาข้อสอบได้คิดคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้ว ผู้ตอบต้องคิดหรือตอบภายในกรอบ(คอก)ที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น

(2) ข้อสอบประเภทนี้ให้โทษแก่ผู้ตอบที่เห็นประเด็นสำคัญยิ่งกว่าผู้ตอบโดยทั่วไปหรือผู้ออกข้อสอบเองอาจไม่ตระหนักรู้ขาดความรอบคอบในการกลั่นกรองตัวเลือกที่ถูกต้อง เป็นข้อสอบที่ไม่ยุติธรรมเข้าข้างผู้รู้แนวคิดอย่างผิวเผิน เพราะปัญหาที่ต้องใช้ความคิดจริง ๆ ไม่อาจสร้างในรูปตัวเลือกได้อย่างสะดวก ตัวอย่าง เช่น

จงเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด
1. กรณฑ์ที่สองของ 3 ตรงกับข้อใด
ก. 1.73 ข. 1.742 ค. 1.83 ง. 1.812

2. สาขาคณิตศาสตร์ในข้อใดต้องใช้เหตุผลมากที่สุด
ก. เลขคณิต ข. พีชคณิต ค. เรขาคณิต ง. สถิติ

จะเห็นว่า ข้อ 1 นั้น ผู้เรียนที่รู้แนวคิดคณิตศาสตร์แบบผิวเผินจะเลือกคำตอบ ข แต่ถ้าผู้เรียนเข้าใจแนวคิดคณิตศาสตร์อย่างแท้จริงทราบว่ากรณฑ์ที่สองของ 3 นั้นเป็นจำนวนอตรรกยะ จึงไม่มีตัวเลือกใดถูกต้อง เพราะทุกคำตอบที่กำหนดล้วนเป็นจำนวนตรรกยะทั้งสิ้น อาจเป็นเหตุให้ผู้เรียนที่ฉลาดเข้าใจในแนวคิดอย่างทั่วถึงชัดเจน มีความคิดต่อต้านรุนแรงจนถึงอาจเลิกทำข้อสอบ เพราะเห็นว่าผู้ออกข้อสอบไม่รู้จริง จึงไม่อาจวัดความสามารถเขาได้ เด็กฉลาดที่มีความคิดเห็นไม่รุนแรง หรือมีความจำเป็นต้องทำข้อสอบเพราะหมายถึงการตัดสินชะตาชีวิตของเขา อาจปลงใจได้ว่า "คนที่โง่พอที่จะออกข้อสอบเช่นนี้ ก็คงโง่พอที่จะคิดว่าข้อ ข เป็นตัวเลือกที่ถูกต้อง" ถ้ามีคนคัดค้านการออกข้อสอบเช่นนี้ผู้ออกข้อสอบก็อาจให้เหตุผลว่า ไม่ได้ให้ผู้ตอบเลือกคำตอบที่ถูก แต่ให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด จะเห็นว่าผู้ออกข้อสอบใช้ความไม่ชัดเจนคลุมเครือของคำว่า ถูกที่้สุด แก้ไข/ปิดบังความไม่เข้าใจในแนวคิดคณิตศาสตร์นั้น
สำหรับ ข้อ 2 นั้นผู้ออกข้อสอบคงคิดว่าตัวเลือก ค ถูกต้อง แต่ผู้ที่เข้าใจลักษณะของคณิตศาสตร์อย่างแท้จริงแล้วย่อมเห็นว่า ทุกสาขาของคณิตศาสตร์ต่างต้องใช้เหตุผลมากทัดเทียมกันเพราะต่างก็เป็นคณิตศาสตร์เช่นเดียวกัน เมื่อจำเป็นต้องตอบก็ต้องเดาใจผู้ออกข้อสอบโดยเลือกข้อ ค

อุทาหรณ์ที่ยกมานี้นักวัดผลบางท่านอาจเห็นว่ามันไม่น่าจะมีผลเลวร้ายอะไร เพราะสุดท้ายแล้วผู้ตอบที่ฉลาดก็ต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดและได้คะแนนข้อนั้นไป การตอบเช่นนี้แสดงถึงความไม่ประณีต รอบคอบของนักวัดผลเหล่านั้น การที่ผู้ตอบซึ่งฉลาด สุขุม ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยใช้เวลานานในการเลือกคำตอบมากกว่าเด็กที่รู้เพียงผิวเผินเสมือนเป็นการลงโทษเด็กฉลาด ทำให้เขาคิดผิดไปว่าความสุขุมรอบคอบไม่สำคัญ หรืออาจคิดว่าการศึกษาส่วนใหญ่ส่งเสริมความไม่ซื่อสัตย์ต่อความจริง ดังนั้นจึงไม่ควรศึกษาต่อไป เป็นการสร้างเจตคติที่ไม่ดีต่อการศึกษาคณิตศาสตร์ได้

(3) ข้อสอบประเภทนี้พิจารณาเฉพาะคำตอบหรือผลสรุปสุดท้าย ไม่ได้พิจารณาถึงคุณภาพของความคิดที่นำไปสู่ผลสรุปนั้น
นักเรียนที่มีความคิดเชื่อมโยงมีเหตุผลตามลำดับขั้นตอนโดยอ้างอิงข้อมูลและทฤษฎีที่ถูกต้องแม้นจะสรุปผลผิด ย่อมสมควรให้คะแนนสูงกว่านักเรียนที่สรุปผลถูก ต้องให้เหตุผลเลอะเลือนสับสน ถ้านักเรียนสองประเภทนี้ตอบข้อสอบแบบเลือกตอบ คนประเภทเเรกสอบตก แต่คนประเภทหลังกลับได้คะแนนสูง

(4) ข้อสอบประเภทนี้ละเลยต่อทักษะในการสื่อความหมาย สื่อสาร และการนำเสนอ
ทักษะการสื่อความหมาย สื่อสาร และการนำเสนอ ซึ่งต้องใช้ความสามารถทั้งการพูด อ่านและเขียน จำเป็นต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ เมือข้อสอบเป็นปรนัยชนิดเลือกตอบเท่านั้น ก็จะมีอิทธิพลให้ผู้สอนไปในแนวซึ่งไม่เน้นถึงความสำคัญของทักษะเหล่านี้ มุ่งแต่เพียงให้ทราบข้อเท็จจริง อันเป็นการละเลยต่อทักษะชีวิตที่สำคัญในการดำรงอยู่ของมนุษย์


การใช้ข้อสอบประเถทเลือกตอบนั้นในบางสถานการณ์ก็มีความจำเป็น และมีประโยชน์มาก แต่ผู้ออกข้อสอบควรตระหนักถึงความวิบัติเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหาทางที่จะทำให้เกิดข้อเสียหายต่อคุณภาพเชิงวิชาการทา่งคณิตศาสตร์ให้น้อยที่สุด ผู้สอนที่ไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาอย่างถ่องแท้แล้วใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบสามารถนำประเทศชาติไปสู่หายนะได้นะ...จะบอกให้...



หมายเหตุ
ปรัชญาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ สรุปเป็นแนวคิดสำคัญดังนี้

1. หลักการหรือกฏเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่นักคณิตศาสตร์ได้คิดค้นขึ้น การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ควรหาแนวทางหรือชี้แนะให้นักเรียนได้ค้นพบหลักการต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง
2. โดยธรรมชาติแล้วคณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นนามธรรม การเรียนการสอนควรเริ่มจากความคิดรวบยอดที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม
3. การสอนคณิตศาสตร์ควรมุ่งการประยุกต์ หรือการนำไปใช้




ด้วยความปราถนาดี

ครูพี
















วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ครูคณิตนวกะดุจพระบวชใหม่

สารบัญบทความ
ดูชื่อเรื่องแล้วหลายท่านอาจจะฉงนสงสัยกันไปใหญ่กระมัง อะไรกันวะ "ครูนวกะ" พิมพ์ สะกดการันต์อะไรผิดไปหรือเปล่านี่ จริง ๆ แล้วมันก็เป็นเช่นชื่อเรื่องนั่นแหละ พระนวกะ ก็คือพระบวชใหม่ ครูนวกะที่ครูพีใช้ในที่นี้ก็คือครูมือใหม่ ครูฝึกสอน ครูฝึกหัด อะไรที่มันใหม่ซิง ๆ นี่มันล้วนตื่นเต้นทั้งนั้น แม้นจะมีปริยัติ หรือหลักทฤษฎีอยู่เต็มหัวก็ตาม เป็นพระก็เคอะเขิน ครองผ้าก็ไม่เรียบร้อย ออกบิณฑบาตก็ งก ๆ เงิ่น ๆ ท่องบทสวดอะไรยังไม่ได้ เวลาเข้าร่วมสังฆกรรมต่าง ๆ ก็ใช้ลูกก้มลูกเดียว ... ครูมือใหม่ก็เฉกเช่นเดียวกัน ยิ่งมีอาจารย์พี่เลี้ยง อาจารย์นิเทศกำลังสังเกตการสอนอยู่ด้วย น้ำลายมันเหนียว แขนขามันสั่นพันกันยุ่งไปหมด ... ขนาดติดสินบนเด็ก ๆ ไว้ล่วงหน้าแล้วนาว่าให้เรียบร้อย ตั้งใจเรียน....ให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีแล้วจะมีรางวัล... นักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ มีไฟต์บังคับคือต้องออกฝึกสอนจึงจะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรได้ ...จากประสบการณ์การเป็นนักศึกษาฝึกสอน อาจารย์พี่เลี้ยง และอาจารย์นิเทศนักศึกษาที่ผ่านมา มีข้อบกพร่องบางประการในการสอนที่นักศึกษาควรแก้ไขดังต่อไปนี้

1. นักศึกษาไม่ทราบความเชื่อมโยงต่อเนื่องของเนื้อหาที่สอน นักศึกษาหลายคนเตรียมการสอนเฉพาะเรื่องที่จะสอนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นการเพียงพอเพราะสิ่งที่จะสอนใหม่ย่อมต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียนมาแล้ว และบางครั้งผู้เรียนไม่เข้าใจคำอธิบายของผู้สอนซึ่งอาจจะด้วยสาเหตุที่ไม่เข้าใจในแนวคิดเดิม ๆ ที่เรียนไปแล้ว เช่น ครูมือใหม่หลายคนเริ่มสอนด้วยทฤษฎีบทที่สิบขึ้นไป โดยที่ตนเองก็มิได้ทบทวนศึกษาเนื้อหาสาระทฤษฎีบทต้น ๆ ให้ถ่องแท้ ไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงต่อเนื่องระหว่างทฤษฎีเหล่านั้น เมื่อผู้เรียนถามปัญหาซึ่งต้องใช้ทฤษฎีตอนต้น ๆ มาใช้ก็ตอบหรือให้ความกระจ่างแก่ผู้เรียนไม่ได้ ทำให้ผู้เรียนขาดความเชื่อมั่นศรัทธาครูผู้สอน

2. ผู้สอนไม่สามารถตอบปัญหาที่ผู้เรียนถามได้ตรงจุด ถูกต้องและชัดแจ้ง ตัวอย่างเช่น ปัญหาเกี่ยวกับทฤษฎีที่ว่าด้ายการเท่ากันทุกประการของสามเหลี่ยมสองรูปว่า ถ้าสามเหลี่ยมสองรูปมีด้านที่เท่ากันสองด้าน ด้านต่อด้าน และมุมระหว่างด้านเท่าเท่ากัน แล้วสามเหลี่ยมสองรูปนั้นจะเท่ากันทุกประการ (ด.ม.ด.) สิ่งที่สำคัญและควรระวังในที่นี้คือ มุมต้องอยู่ในระหว่างด้านเท่า ผู้เรียนหลายคนจะใช้ทฤษฎีบทนี้โดยไม่ระวัง ไม่ตระหนักถึงว่ามุมนั้นต้องเป็นมุมที่อยู่ระหว่างด้านที่เท่ากันหรือไม่ เมื่อครูมือใหม่ให้คำแนะนำติติงว่าผิด ผู้เรียนก็จะย้อนถามว่าทำไมถึงผิด และครูมักจะยกทฤษฎีขึ้นมาอธิบายชี้แจงซึ่งก็ไม่อาจสร้างความกระจ่างชัดในเหตุผลให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ ให้ทำโจทย์ปัญหาในลักษณะคล้ายคลึงกันก็ยังคงผิดตามเดิม เพียงแค่ครูมือใหม่สร้างรูปง่าย ....

สามเหลี่ยม ABC กับสามเหลี่ยม ABC1 มีด้านเท่ากันสองด้าน คือ AB เท่ากับด้าน AB (ด้านร่วม) ด้าน AC เท่ากับด้าน AC1 และมุมหนึ่งมุมเท่ากันคือ มุม B (มุมร่วม) ซึ่งผู้เรียนเห็นได้ชัดเจนว่าสามเหลี่ยมสองรูปนี้ไม่ใช่สามเหลี่ยมที่เท่ากันทุกประการ จะทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อความ "มุมในระหว่างด้านที่เท่ากัน" ได้อย่างแจ่มชัด
3. ครูมือใหม่ไม่ได้ใช้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์ที่เรียนในระดับอุดมศึกษามาช่วยอธิบายเนื้อหาให้เข้าใจได้ง่าย และถูกต้องชัดเจน
เช่น เมื่อผู้เรียนเข้าใจว่า (a+1)/(a+1) = 0 ครูมือใหม่ไปอธิบายว่า "มันตัดกันไปได้หมด" และยกตัวอย่างประกอบให้เห็นเช่น 4/4
เป็น 1 มิใช่ 0 คำกล่าวที่ว่า "ตัดกันไปได้หมด" ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ผู้เรียนเข้าใจว่า (a+1)/(a+1) ควรเท่ากับ 0 ในเรื่องนี้นั้น เมื่อเราพิจารณาปัญหาแล้วจะเห็นว่าผู้เรียนไม่เข้าใจแนวคิดของการหารได้ดีพอ เราควรต้องอธิบายว่า
m/n = # หมายถึง m = n x # ดังนั้น
(a+1)/(a+1) = # หมายถึง a+1 = (a+1) x # นั่นคือ # ต้องเป็น 1

4. ครูมือใหม่ขาดความรู้รอบตัวที่เพียงพอ
ดังในสถานการณ์การสอนเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย มีครูบางคนกล่าวว่า "ถ้าใครให้นักเรียนยืมเงินแล้วคิดดอกเบี้ยทบต้น ถือว่าเป็นการเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ควรคิดดอกเบี้ยเชิงเดียว" แสดงว่าครูเข้าใจผิดในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้นเป็นการยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับกันในวงการธุรกิจสากล ครูจะสอนเนื้อหาใด ควรจะมีความรู้ในวิชานั้น ๆ นอกเหนือจากในหนังสือเรียน

5. ครูมือใหม่ชอบยกตัวอย่างในหนังสือเรียน หรือพิสูจน์ตามหนังสือเรียน
ตัวอย่างใดที่มีอยู่ในหนังสือเรียนแล้วก็ควรให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง ตัวอย่างที่ผู้สอนจะยกมาแสดงควรเป็นตัวอย่างที่ครูคิดขึ้นมา หรือเอามาจากหนังสืออื่น เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้หลากหลาย กว้างขวาง การยกตัวอย่างในหนังสือเรียนนอกจากจะเป็นการแสดงว่าครูไม่ได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้นอกเหนือไปจากหนังสือเรียนแล้ว ยังปลูกฝังนิสัยไม่ดีแก่เด็ก เพราะเมื่อครูอธิบายให้หมดแล้วเด็กก็ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติมอะไรอีก นิสัยรักการอ่านซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการศึกษา ก็จะถูกละเลยมิได้ให้การส่งเสริมเท่าที่ควร

แต่อย่างไรก็ตามแม้นจะมีข้อบกพร่องเหล่านี้ ครูฝึกสอนส่วนมากก็มักจะสอนได้ดี ทั้งนี้เพราะมีความปราถนาดีต่อเด็ก มีจริยธรรมและจิตวิญญาณของครูเต็มเปี่ยม และพยายามปรับปรุงตนเองตลอดเวลา การให้ปัญญาย่อมได้ปัญญา ความรัก ปัญญา และเมตตาย่อมส่งผลให้ครูคณิตศาสตร์มือใหม่ได้ประสบผลสำเร็จที่ดีงามในปัจจับันและกาลอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน


ด้วยความปราถนาดี

ครู PEE/