ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สุ่ม หรือ ชัก


สารบัญบทความ

สุ่มตัวอย่าง หรือ ชักตัวอย่าง


สืบเนื่องมาจากการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์รายหนึ่ง ที่เขาระบุวิธีการสุ่มตัวอย่างว่าใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม และ วงเล็บภาษาอังกฤษว่า Cluster Sampling ครูพีก็เลยติงว่าในภาษาไทยมีคำว่า "สุ่ม" อยู่ด้วย ภาษาอังกฤษก็น่าจะใช้คำว่า Cluster Random Sampling เพราะคำว่า "สุ่ม" ภาษาอังกฤษใช้ "Random" ซึ่งกรรมการสอบอีกท่านก็ให้ความเห็นว่า ในตำราหรือหนังสือ ของผู้มีชื่อเสียงในแวดวงสถิติเขาก็วงเล็บภาษาอังกฤษโดยไม่มีคำว่า Random อยู่ด้วย  ครูพีก็เคยเห็นมีการใช้กันทั้งสองแบบนั่นแหละทั้งมี และไม่มี  แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้วความในภาษาไทยและอังกฤษมันควรสอดคล้องต้องกัน เมื่อมันมีคำว่า "สุ่ม" ในภาษาไทย  ก็ควรมีคำว่า "Random" กำกับไว้ด้วยในภาษาอังกฤษ ยกเว้นว่า "Sampling" มันจะเเปลว่า "การสุ่มตัวอย่าง"  ซึ่งก็เปรยกับกรรมการสอบร่วมว่า "Sampling" มันแปลว่าการสุ่มหรือ?  ได้รับคำตอบว่า "ใช่" ครูพีไม่แน่ใจก็เงียบไป แต่ก็ให้สงสัยตะหงิด ๆ ว่าแปลเยี่ยงนี้จริงหรือ ?

ครูพีได้ไปสืบค้นคำแปลว่า "Sampling" จากศัพท์คณิตศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พิมพ์ครั้งที่ 9 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2549  ในหน้า  113  ระบุไว้ว่า sampling  คือ การชักตัวอย่าง  ไม่ไช่ การสุ่มตัวอย่าง และหน้า 105 ระบุว่า random คือ สุ่ม     และ  random  sampling คือ การชักตัวอย่างแบบสุ่ม    แสดงให้เห็นว่าวิธีการชักตัวอย่าง(Sampling) อาจจะชักแบบสุ่มหรือไม่สุ่มก็ได้    ดังนั้นเมื่อใช้คำว่า การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่มโดยวงเล็บภาษาอังกฤษว่า Cluster Sampling ย่อมไม่สอดคล้องกันระหว่างคำไทยและอังกฤษ   เพราะคำว่าCluster Sampling ควรตรงกับคำว่า การชักตัวอย่างแบบกลุ่ม มิใช่การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม  แม้นว่า Cluster มันจะเป็นชนิดหนึ่งของการชักตัวอย่างแบบสุ่มก็ตาม....งงไหมนี่พีน้อง!

ครูพีเห็นว่าการใช้คำศัพท์เชิงวิชาการของแต่ละสาขานั้นก็ควรยึดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของสาขานั้น ๆ เป็นหลัก  คำว่า "Sampling" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตคณิตศาสตร์ใช้เป็น "การชักตัวอย่าง"  ก็ควรจะใช้ตามนี้มิใช่ไม่กล้าใช้ด้วยเหตุผลเพียงว่าเพราะคนส่วนใหญ่เขาใช้คำว่า "สุ่มตัวอย่าง"  การชัก และการสุ่มมันไม่ได้สมมูลกัน  แต่การสุ่มมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ การชัก...    เฉกเช่นเดียวกับคำว่า Degree of freedom คณิตศาสตร์ใช้ "องศาเสรี" แต่ทั่วไปในการวิจัยใชั "ชั้นแห่งความเป็นอิสระ" ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่ามันพอเทียบเคียงศักดิ์ของคำกันได้   แต่  Sampling  กับ  Random มันคนละ Meaning  มีนัยที่แตกต่างกัน ชัก มันคลุม สุ่ม ...สุ่มสี่สุมห้า มัน มิใช่การสุ่มที่จะได้ตัวแทนที่ดี ...

ท้ายที่สุดนี้ครูพีก็ขอฝากไว้ว่าคนใน school คณิตศาสตร์ ศัพท์เทคนิคที่ใช้ก็ต้องใช่้ใน school คณิตฯ จริง ๆ แล้ว คณิตศาสตร์มันเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ และ/หรือภาษาเทคโนโลยีอยู่แล้ว คนคณิตศาสตร์ก็ควรมีความกล้าหาญเชิงวิชาการ หรือภาคภูมิใจในการใช้คำในศาสตร์ของตน เพราะคำศัพท์ มันเป็นสิ่งแทนความคิด แทนตัวตนของคนในแวดวงวิชาชีพนั้น    

    ...."คณิตศาสตร์เป็นราชินีของวิทยาศาสตร์"  .....

ด้วยความปราถนาดี
ครูพี/

หมายเหตุ

คำว่า "Mean" คณิตศาสตร์ใช้ "ค่าเฉลี่ย" มิใช่ "คะแนนเฉลี่ย"




ร้อยละของความคงทนในการเรียน




สารบัญบทความ

เปรียบเทียบความคงทนอย่างไรให้กระจ่าง


        วันนี้ครูพีขอนำเรื่องราวของ "ความคงทนในการเรียน"  หรือ "ความคงทนในการเรียนรู้" หรือ "ความคงทนในการจำ" มากล่าวไว้อีกครั้งหนึ่งเพื่อเพิ่มมุมมองแก่ผู้อ่านให้หลากหลายมากขึ้น  โดยนำเสนอสาระที่พิจารณาแล้วว่ามันน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการเปรียบเทียบ Retention ของผู้เรียนจากผลการใช้นวัตกรรมทางการศึกษาที่แตกต่างกันสองแบบ และเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งในแง่เนื้อหาสาระ ความสมเหตุสมผลเชิงวิชาการให้กับนักศึกษาผู้ทำวิทยานิพนธ์ รวมทั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ที่มีมุมมองที่แตกต่างกันในวิธีการเปรียบเทียบ Retention ของผู้เรียน

แนวคิดของ Retention คือ "ความสามารถในการเก็บรักษา หรือการสงวนความรู้ ความจำ ตลอดจนความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนผ่านมาแล้ว" โดยทั่วไปในการวัด Retention นั้นผู้วิจัยจะวัดหลังจากสอบหลังเรียนแล้วในช่วงเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปก็ประมาณ 1 เดือน หลายสถาบันนิยมวัดหลังเรียนแล้วสองสัปดาห์ ซึ่งในที่นี้ครูพีขออ้างอิงเป็นสองสัปดาห์ก็แล้วกันเพื่อให้สอดคล้องกับงานของนักศึกษาสาขาคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ที่พิจารณาตามหลักการแล้วว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการวัดความคงทนในการเรียน

เมื่อได้ผลการสอบหลังเรียน และ หลังเรียนแล้วสองสัปดาห์ของกลุ่มตัวอย่างอิสระสองกลุ่มที่ให้นวัตกรรมที่แตกต่างก่อนสองวิธี  ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนของกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มซึ่งมีลำดับขั้นตอนในการวิเคราะห์ดังนี้

1. นำคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งสองครั้งมาคำนวณหาค่าร้อยละของคงทนในการเรียนโดยใช้สูตร

     ค่าร้อยละของความคงทนในการเรียน  = (คะแนนครั้งหลัง / คะแนนครั้งแรก) x 100

2. นำค่าร้อยละของความคงทนในการเรียนมาหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

3. ทดสอบความแปรปรวนของนักเรียนทั้งสองกลุ่มโดยใช้การทดสอบค่า F (F-test)

4. จากการทดสอบ F ถ้าไม่มีนัยสำคัญใช้สูตร t  ในกรณี variances เท่า   มิฉะนั้นก็ใช้สูตร t ในกรณี variances ไม่เท่า  เพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนของสองกลุ่ม


        สุดท้ายนี้ครูพีก็หวังอย่างยิ่งว่าผู้อ่าน หรือลูกศิษย์ ก็จะได้ข้อสรุปที่ทำให้สบายใจในการใช้สถิติเพื่อการเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนรู้จากการใช้นวกรรมสองอย่างกับกลุ่มตัวอย่างอิสระสองกลุ่ม  ว่ามหากาพย์เรื่องนี้จะทำดีที่สุดอย่างไร   หมดหน้าที่ของครูพีแล้วนะ แต่ขอฝากไว้ว่าอะไรที่ไม่เคยใช้ ก็ต้องศึกษาสืบค้นข้อมูลให้กระจ่างชัด อ่านหลักการ หรือทฤษฎีให้เข้าใจ แต่นั่่นมันไม่เพียงพอหรอกนะ่  ต้องดูตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวัดตัวแปรนั้นให้กว้างขวางหลากหลายไม่เป็นกบในกระลาครอบ  เปิดใจโดยมีความรู้พื้นฐานที่เพียงพอรองรับที่จะทำความเข้าใจในสิ่งนั้นให้แจ่มกระจ่าง


ด้วยความปราถนาดี

ครูพี







วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

t-test พิเศษ ในรูป Difference-scores



สารบัญบทความ

t-test พิเศษ ในรูป Difference-score

การทดสอบ t ที่ครูพีจะนำเสนอในวันนี้มันเป็นวิธีการหนึ่งที่เจ๋งไม่เบามีแง่มุมที่น่าสนใจในการนำไปใช้ หาดูไม่ได้ในสถิติวิจัยทางการศึกษาทั่วไป เชื่อไม่เชื่อลองสืบค้นดู

ก่อนที่จะแนะนำการใช้สถิติตัวนี้ ครูพีขอกล่าวถึงแนวทางการเลือกใช้ t-test สำหรับกลุ่มตัวอย่างอิสระ (t-test for independent sample) โดยทั่วไปที่ใช้กันนั้นนักวิจัยที่จำเป็นต้องใช้การทดสอบนี้ย่อมทราบหลักการในการเลือกดังต่อไปนี้

1. โดยทฤษฎีการทดสอบ t ใช้เมื่อกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กทั้งคู่ (แต่ละกลุ่มต้องมีขนาดน้อยกว่า 30)
2. การทดสอบ t มีโอกาสใช้มากกว่าการทดสอบ Z ทั้งนี้เพราะในการทดสอบ Z เราไม่มีโอกาสรู้ค่าความแปรปรวนของประชากรจึงต้องประมาณเอา เมื่อเป็นเช่นนี้ ค่าสถิติทดสอบจะมีการแจกแจงแบบทีมากกว่าเป็นการแจกแจงแบบ Z     นั่นคือถ้าแทนความแปรปรวนประชากรด้วยความแปรปรวนของตัวอย่างแล้วจึงควรใช้การทดสอบทีจะ vality มากกว่า

        เนื่องจากการใช้สูตร t กรณีกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มอิสระมีทั้งหมดสองสูตร คือสูตร Pooled t-test (กรณ๊ variances ของประชากรเท่ากัน) กับสูตร Nonpooled t-test (กรณี variances ของประชากรต่างกัน)
ในเชิงการปฏิบัติแล้วมีวิธีการเลือกดังนี้

1) ถ้าขนาดของตัวอย่างเท่ากัน ใช้ Pooled t-test โดยไม่ต้องทดสอบความแปรปรวนด้วย F-test
2) ถ้าขาดตัวอย่างต่างกันให้ทดสอบด้วย F-test ก่อน  ถ้าค่า F ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ใช้ Pooled t-test แต่ถ้ามีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับที่ตั้งไว้ให้ใช้ Nonpooled t-test

ที่กล่าวมานี้ท่านที่เข้ามาอ่านคง Get กันอยู่แล้วกระมัง   เอาล่ะครูพีขอวกกลับเข้ามาหา t พิเศษที่เกรินมาเบื้องต้นเลยแล้วกันนะครับ

        อนุสนธิจากการสอบวิทยานิพนธ์ 5 บทของนักศึกษาที่ผ่านมา ได้มีการนำสูตร t - test ในรูป Differece-score ของ Scott ;Wertheimer มาใช้ในการทดสอบสมมุติฐานเพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนรู้ (Retention) ของตัวสองกลุ่มที่ได้รับการ treatment ที่แตกต่างกัน    รายละเอียดของแนวคิด วิธีการ สูตรที่ใช้ ผู้สนใจโปรดลิงค์ข้อมูลที่ครูพีได้จัดทำไว้ในรูป pdf ไฟล์ที่ url ตามความในลิงค์นี้



        ลิงค์ t-test ในรูป Difference-score



จะเห็นว่าสูตรดังกล่าวนี้ครูพีพยายามสืบค้นหาแต่ก็ไม่ปรากฏในหนังสือสถิติเพื่อการวิจัยทางการศึกษาโดยทั่วไปในประเทศไทย  เมื่อดูข้อตกลงเบื้องต้นในการใช้สถิติ t ในบริบทนี้มันแตกต่างจากสูตร t ปกติที่ใช้กัน  คือตัวอย่างไม่ได้มาจากการสุ่ม หรือขนาดของตัวอย่างแตกต่างกันมาก     เมื่อมาพิจารณางานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปรากฏว่าตัวอย่างสองกลุ่มที่ได้มานั้นต่างก็เป็นตัวอย่างสุ่มมาทั้งคู่ และขนาดมันดันเท่ากันซะด้วยแล้วจะไม่ขัดข้อตกลงในการใช้สูตรนี้หรือ   ครูพีไม่ทราบหรอกนะว่าการใช้สูตรนี้เพราะผู้ใช้เห็นว่ามันได้นำคะแนนหลังเรียนและหลังเรียนแล้วสองสัปดาห์มาใช้ทั้งคู่ดูมีความหมายที่ทลายข้อขัดข้องใจว่า   การนำค่าเฉลี่ยหลังเรียนแล้วสองสัปดาห์(หรือมากกว่านี้) ของทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกันเลยดูอีหลักอีเหลื่อไม่น่าเชื่อถือ  ซึ่งครูพีเคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วในบทความก่อนหน้านี้้ที่ว่าด้วยการเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนรู้ของสองกลุ่มอิสระ      เอาล่ะถ้าจะใช้สูตรนี้เพื่อการทดสอบ Retention ให้ได้อย่าง validity ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า

(1) กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มนี้ไม่ได้มาด้วยการสุ่มแล้วใช่ไหม  หรือ
(2) ขนาดของตัวอย่างที่ได้มาแตกต่างกันมาก  (มากเท่าไร ?) รึเปล่า
และ
(3) treatment ที่ใส่ไปในระหว่างสองช่วงเวลาที่ต้องการทดสอบคืออะไร

ซึ่งทางออกของเรื่องนี้ครูพีเห็นว่าตัวอย่างสองกลุ่มต่างผ่าน treatment มาแล้ว และมีการทดสอบความมีนัยสำคัญของค่าเฉลี่ยมาแล้ว ตัดสินใจได้แล้วว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม    จึงถือว่ามันมิใช่ตัวอย่างสุ่มอีกต่อไป  จึงมีเหตุผลที่จะใช้สถิติ t ชนิดนี้ได้  ส่วน treatments ที่ให้ระหว่างหลังเรียนและหลังเรียนแล้วสองสัปดาห์ คือ no treatment ทั้้งสองกลุ่ม   ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่พอเพียงในการใช้ได้    ถ้ายอมรับในเหตุผลนี้  ก็ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกในการวัด Retention หรือเปรียบเทียบผลสัมฤทธฺ์ทางการเรียนให้แก่ผู้วิจัย หรืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในกรณีที่จะแนะนำนักศึกษา

สิ่งที่ครูพีเป็นห่วงและฝากไว้ก็คือ เมื่อคุณจะใช้สูตรสถิติใดก็ตามจะต้องไม่ละเมิดข้อตกลองเบื้องต้นในการใช้ ผู้วิจัยจะต้องเข้าใจในสถิติตัวนั้นให้ชัดแจ้ง ไม่ใช่เห็นเขาใช้ก็ใช้ตามข้อมูลในบริบท แห่งกาละ เทศะของเราอาจใช้ไม่ได้ก็ได้


ด้วยความปราถนาดี


ครูพี







นักวิจัยมือใหม่ GET IT !




สารบัญบทความ


ข้อคิดในการทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์




่ช่วงนี้มีลูกศิษย์บัณฑิตศึกษาสาขาคณิตศาสตร์หลายท่านที่กำลังง่วนอยู่กับการจัดทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เพื่อเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาตรวจแก้ไขให้คำแนะนำก่อนที่จะขึ้้้นสอบปากเปล่าต่อไป ครูพีมีข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวทางบางประการให้การจัดทำเป็นไปอย่างถูกต้องตามครรลองของระเบียบการทำวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อให้ไม่ต้องแก้ไข หรือต้องแนะนำกันซ้ำซากในข้อผิดพลาดเดิม ๆ  ดังนี้

ข้อ 1  เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่พิมพ์เอกสารเอง หลายท่านไม่แม่นในระเบียบตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ฯ จึงมีข้อผิดพลาดทั้งรูปแบบ ตัวอักขระที่ใช้ หัวข้อต่าง ๆ ตามโครงสร้างที่กำหนดในระบบเอกสาร  ดังนั้นเวลาพิมพ์เอกสาร ควรมีทั้งคู่มือการจัดทำวิทยานิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ตัวอย่าง (ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ) มาเตรียมพร้อมไว้ใกล้ตัวเสมอเพื่อการอ้างอิง

ข้อ 2 การจัดริมขวาของเอกสารที่กำหนดไว้ให้ตรงกันนั้นก็เพื่อความสวยงาม เป็นระเบียบ แต่ทั้งนี้ก็มิใช่สิ่งตายตัวที่ดิ้นไม่ได้ ถ้าเห็นว่าจะทำให้เกิดการแยกหรือฉีกคำไม่เหมาะสมในบางจุดอาจต้องไม่ตรงกันบ้างก็ไม่เสียหายอะไร   เช่นคำศัพท์ที่เป็นคำเดียวกันถูกแยกพิมพ์ไว้คนละบรรทัดก็ไม่เหมาะสม
        เทคนิคที่ครูพีมักนำมาใช้เสมอในกรณีดังกล่าวคือ การขยับช่องไฟในคำเชื่อมเช่น และ แต่ หรือ เป็นต้น อาจพิมพ์แยก หรือชิดติดกับข้อความหลักก็ได้  แต่การเว้นช่องไฟก็อย่าให้ห่างไปจนน่าเกลียด

ข้อ 3 การพิมพ์ชื่อชาวต่างชาติให้พิมพ์ทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะตามคู่มือฯกำหนดไว้เช่นนั้น  ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งดีที่ยึดตามเกณฑ์นี้เพราะเมื่อพิมพ์ออามาเป็นคำไทยแล้วไม่รู้ว่าสะกด การันต์ ถูกหรือเปล่า

ข้อ 4 คำศัพท์วิชาการที่ใช้ต้องสอดคล้องต้องกันทั้งเล่ม และใช้ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตฉบับล่าสุดที่กำลังใช้  เช่นคำว่า concept ปัจจุบัน ใช้ "แนวคิด" ก็ควรใช้คำนี้เป็นบรรทัดฐาน มิใช่มีทั้ง มโนมติ มโนทัศน์ ความคิดรวบยอด หรือ บางคนอาจหลงยุคใช้คำว่า สังกับ โผล่เข้ามาในบางหน้าของเอกสารก็อาจเป็นได้เพราะอ้างอิงเอกสารที่เก่ามาก(ตัวเองยังไม่เกิด)    หลายท่านอาจสงสัยว่าก็เอกสารหลากหลายต่างยุคสมัยที่อ้างอิงนั้้นใช้คำต่างกันแล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะ เรื่องนี้ครูพีมีทางออกด้วยวิธีการเรียงถ้อยความนั้นใหม่ก็สามารถปรับคำศัพท์เจ้าปัญหานั้นได้ แต่ต้องระวังการเก็บถ้อยความที่เรียบเรียงนั้นต้องสมมูลกับถ้อยความเดิม เดี๋ยวเจ้าของผลงานมาอ่านเข้าจะงงว่าตัวเองเคยกล่าวความนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่

ข้อ 5  เอกสารอ้างอิงไม่ควรเก่าเกินสิบปี โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านการเรียนการสอนไม่ควรจะเกิน 3 หรือ 5 ปี ด้วยซ้ำ เพราะ events หรือ contexts ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร นวัตกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งที่นำมาอ้างอิงอาจล้าสมัยไปแล้ว   ส่วนหนังสือที่เป็น classic อาจเก่าเกินสิบปีได้  แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นหนังสือที่แต่งโดยใครก็ควรเป็นฉบับล่าสุดของหนังสือชื่อนั้นที่ได้รับการตีพิมพ์ เนื่องจากหนังสือที่พิมพ์ล่าสุดก็จะมีการ update ข้อมูลให้ถูกต้อง เหมาะสมและทันสมัยมากขึ้น

ข้อ 6  การอ้างอิงงานวิจัยภายในประเทศโดยทั่วไปจะต้องไม่ต่ากว่า 10 ชื่อเรื่อง  ส่วนงานวิจัยในต่างประเทศต้องไม่ต่ำกว่า 5 ชื่อเ้รื่อง

ข้อ 7 กลุ่มตัวอย่าง ถ้าเป็นการชักตัวอย่างแบบเจาะจง (purpossive sampling) โดยทั่วไปแล้วไม่อาจใช้สถิติเชิงอนุมาน เช่น  t หรือ z ในการทดสอบสมมุติฐานเพื่ออ้างอิงประชากรได้  เพราะขัดข้อตกลงเบื้องต้นในการใช้สถิติเหล่านั้น

ข้อ 8  ผู้ที่เป็นครูสอนโรงเรียนขนาดเล็ก ๆ อาจกำหนดประชากรเป็นกลุ่มเครือข่ายเพื่อขยายปริมาณให้เพิ่มขึ้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบเชิงวิชาการ ตระหนักถึงความเหมือน และความแตกต่างของแต่ละหน่วยข้อมูลด้วยเพื่อนำไปสู่การชักตัวอย่างสุ่มที่เหมาะสม

ข้อ 9  บทที่ 2 ที่ว่าด้วยแนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  เอกสารทั้งหลายที่กล่าวถึงในบทนี้นอกเหนือจะนำไปใช้ในการกำหนดกรอบแนวคิด และการออกแบบงานวิจัย แล้วยังมีความสำคัญต่อการอภิปรายผลในบทที่ 5 ของรายงานการวิจัย การอ้างอิงผลการวิจัยว่าสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับแนวคิด หลักการ ผลการศึกษาของใครจะต้องเป็นสิ่งที่อ้างอิงไว้ก่อนแล้วในบทที่ 2 เท่านั้น

ข้อ 10  ความในบทนำ วรรคสุดท้ายหลังจากมีการชักแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องทำการวิจัยในครั้งนี้  เมื่อการวิจัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ก็มักจะกล่าวถึงเนื้อหาและระดับชั้นที่จะทำการวิจัย  ซึ่งก็ควรให้เหตุผลประกอบว่าทำไมต้องเลือกเนื้อหานี้ และทำกับระดับชั้นนี้  ซึ่งอาจจะเป็นในเชิงของปัญหา  ประโยชน์ หรือความเหมาะสมกับนวัตกรรมที่ใช้

ข้อ 11 การเสนอเค้าโครงฯ ผู้วิจัยยังไม่ได้ดำเนินการวิจัยแต่อย่างไร ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลในบทที่ 3 ที่ว่าด้วยการดำเนินการวิจัยในขั้นตอนที่กล่าวถึงการหาคุณภาพของเครื่องมือมีหลายคนที่ระบุผลในการพัฒนาเครื่องมือมาเลย เช่นการระบุค่า IOC หรือค่า p, r ของแบบทดสอบเจาะจงลงไปเลย  ทำให้สงสัยว่าลอกมาจากที่ใดงานยังไม่ได้อนุมัติ เครื่องมือยังไม่ได้สร้าง แต่มีผลการ try out ออกมาแล้วมันเป็นเรื่องพ้นวิสัย   จะใส่ไว้ได้ก็เฉพาะเกณฑ์มาตรฐานเชิงวิชาการทั่วไปเท่านั้น

ข้อ 12  การใช้สูตรไม่สอดคล้องต้องกันโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือที่เป็นแบบทดสอบ ที่ต้องมีการวัดความยาก อำนาจจำแนก และความเชื่อมั่น   บางคนระบุว่าแบบทดสอบเป็นชนิดอิงเกณฑ์ หาค่า p, r
แบบอิงเกณฑ์ แต่กลับไปใช้สูตร KR 20 หรือ KR 21 ในการหาความเชื่อมั่น ทั้ง ๆ ที่สูตรนี้ใช้วัดความเชื่อมั่นของแบบทดสอบแบบอิงกลุ่ม  ต้องระวัง!  และในสูตรการหาความเชื่อมั่นแบบอิงเกณฑ์เองนั้นจะมีค่า C ซึ่งเป็นเกณฑ์การรอบรู้ เมื่ีอถามว่าใช้ C เท่าไหร่ กลับตอบไม่ได้แล้วจะใช้สูตรนี้ได้อย่างไร

ข้อ 13 การใช้สูตรทดสอบที (t-test) แบบสองกลุ่มอิสระ มีสองสูตรคือกรณี variance เท่ากับไม่เท่า เวลาเขียนเค้าโครงจะไปชี้้เปรี้ยงเลยว่าใช้สูตรนั่นนี่เลยไม่ได้ ต้องแจงออกมาเป็นกรณี และแต่ละกรณีใช้สูตรอย่างไร องศาเสรีเท่าไร     ยกเว้นว่าสองกลุ่มอิสระดังกล่าวมาขนาดเท่ากัน (n1 = n2) ก็สามารถระบุได้ว่าใช้สูตรกรณี variance เท่าได้เลย  
        แต่อย่างไรก็ตามในฐานะคนเรียน Maths มาก็อย่าไปละเมิดข้อตกลงเบื้องต้นที่กำหนดไว้ของการใช้สูตร  ตรวจสอบเทียบเคียงว่าในบริบทของข้อมูลที่จะประมวลผลนั้นสามารถใช้ได้หรือไม่    ต้องตระหนักรู้ใน validity ของผลว่าต้องมาจากเหตุปัจจัยที่ถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น

ข้อ 14  การตั้งสมมุติฐาน  เราจะตั้งเป็นสมมุติฐานเพื่อการทดสอบด้วยข้อมูลเฉพาะจุดที่ต้องใช้สถิติเชิงอนุมานเท่านั้น เช่นจุดที่ต้องใช้การทดสอน t, z, F หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ด้วยความปราถนาดี
ครูพี//












Link : การเตรียมตัวสอบเค้าโครงฯ