ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บ้า ก็ บ้า ว่ะ !







ครูคณิตฯหลายท่านอาจหงุดหงิดที่จะต้องตอบคำถามว่า "เรียนเนื้อหานี้ไปทำไม ? มันเอาไปทำอะไรได้ ?" แต่หนีไม่พ้นที่ต้องเผชิญกับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องประเภท ถอดรู้ทหรือเทคลอก ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สุดแสนจะแห้งแล้ง ไร้ฃีวิตชีวาและจับต้องไม่ได้ ห่างไกลจากชีวิตจริง เสมือนอยู่บนหิ้งบูชาหรือไม่ก็บนหอคอยงาช้าง เด็กหลายคนจับกลุ่มนินทาในช่วงพักยกก่อนลุยบื้อเรียนเนื้อหากันต่อไปจนจบครบคาบเรียนนั้น ...

"กูละ่เบื่อโว้ย! จะเอาเรื่องถอดรู้ทไปใช้เปลี่ยนล้อมอเตอร์ไซด์ได้อย่างไงวะ่ ... คิดแล้งเง็งว่ะ" หรือไม่ก็
"ไอ้เทคลอกนี่มันใช้ทำซกเล็กได้เปล่า ?"

คำถามเชิงประฃดประชันเหล่านี้ไม่ว่ามันจะผุดโผล่ออกมาด้วยความสับสนสงสัย อัดอั้นตันใจ หรือใคร่รู้จริง ๆ ก็ตาม ก็ควรเป็นแง่คิดสะกิดใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพึงสำเหนียก ตระหนักรู้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอน ผู้บริหาร ผู้พัฒนาหลักสูตร นักการศึกษา นักจิตวิทยา หรือนักวิจัยก็ตาม ควรฉุกคิดกันได้แล้วว่า ปัญหามันมาจากอะไร แล้วเหตุใดจึงเกิดข้อสงสัย หรือมีคำถามเช่นนี้กับศาสตร์ที่เป็นชีวิต จิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นเครื่องมือฃ่วยเหลือสนับสนุนค้ำจุนหนุนนำในพัฒนาการแห่งศาสตร์ทั้งปวง ... เราแทบทุกคนต่างผ่านการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามหลักสูตรภาคบังคับกันมาแล้ว พบกับรูปลักษณ์อันแสนเข้มข้น เคร่งขรึมในเนื้อหากับความเฮี้ยวเนี้ยบของครูเลขผู้แสนจะเข้มงวดจริงจังในแบบแผน หลายคนอาจอ่อนล้าและบาดเจ็บทางปัญญา ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคหัวโตซินโดรมกันมาบ้างกระมัง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุปัจจัยผลักไสให้เกิดความรู้สึกหมางเมินเหินห่าง ทั้ง ๆ แท้จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์เกิดขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้ ความสุขใดจะยิ่งใหญ่เสมอได้กับความปิติที่เกิดจากความเข้าใจในแนวคิดแปลกใหม่ที่ท้าทาย เพื่อขบคิดให้แตกจนสารสุขในกายหลั่งอย่างพลั่งพลูเป็นไม่มี คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมืออันสุดแสนวิเศษที่จะเกื้อหนุนนำพาผู้เรียนได้ประสบผลอันเป็นทิพย์เช่นนี้ได้อย่างดีที่สุด
คงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจักต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ รู้จักทักทายคณิตศาสตร์ในแง่มุมและรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไปเพื่อคลายความเกร็งเครียด และเริ่มเห็นความน่าสนใจของคณิตศาสตร์ซึ่งเป็น "เพื่อนแท้" ของมนุษย์ชาติเพิ่มขึ้น และความสนใจนี้เองที่จะทำให้หัวใจและมุมมองของเราเปิดรับกับความสำคัญของคณิตศาสตร์ที่ผ่านมาในทุกเมื่อเชื่อวันได้
บรรยากาศการสอนคณิตศาสตร์ในห้องเรียนการประยุกต์ใช้ วิธีสอน เทคนิคการสอน ผู้สอนควรคำนึงถึงปรัฃญาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่ว่า

1) หลักการหรือกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่นักคณิตศาสตร์ได้คิดค้นขึ้น การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ควรหาแนวทางเพื่อชี้แนะให้นักเรียนได้ค้นพบหลักการต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง
2) โดยธรรมชาติแล้วคณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นนามธรรม การเรียนการสอนควรเริ่มจากแนวคิดที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม
3) การสอนคณิตศาสตร์ควรมุ่งการประยุกต์ หรือการนำไปใช้

ส่วนที่สำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์ของบุคคลก็คือพลังแห่งจินตนาการซึ่งสำคัญกว่าความรู้ หลักการนี้รับรองโดยไอน์สไตน์ บุรุษแห่งศตวรรษ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่

คณิตศาสตร์ได้สนับสนุนความเจริญของมนุษย์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นภาษาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกยุคฐานความรู้และปัญญาในปัจจุบัน คณิตศาสตร์เป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมทางความคิดมิใช่สมบัติของคนเพียงกลุ่มเดียว เชื้อสายเดียว หรืออารยธรรมเดียวเท่านั้น แต่มันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของการพัฒนาร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

คณิตศาสตร์นอกเหนือจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางวัตถุทั้งมวลแล้ว ยังมีส่วนเสริมสร้างให้เกิดสังคมที่ดีงามได้ เพราะการฝึกฝนทางคณิตศาสตร์ทำให้เกิดวิธีคิดที่เป็นระบบและมีเหตุผล เป็นรากฐานอันมั่นคงแห่งสังคมที่มีทั้งภูมิปัญญา ภูมิคุ้มกันและความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันในทุกชนชั้น



ด้วยความปราถนาดี
ครูพี/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น