ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สอบเค้าโครง งง หรือ โปร่ง

Photobucket


ในระยะนี้ก็เป็นช่วงที่นักศึกษาระดับปริญญาโทคณิตศาสตร์ศึกษา (วท.ม.) รุ่นที่ 3 รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หลายท่านที่กำลังคร่ำเคร่งกับการเขียนวิทยานิพนธ์ 3 บทแรก ตามหัวเรื่องที่ได้รับอนุมัติจากสาขาวิชาให้ดำเนินการได้ เมื่อเขียน 3 บทแล้วเสร็จก็ต้องนำเสนอกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขปรับปรุงร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจนที่สุด ทั้งภาษา รูปแบบ แนวคิด สถิติที่ใช้ นักศึกษาหลายท่านพิมพ์งานเอง ซึ่งจะต้องศึกษาคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ให้ชัดเจน พร้อมทั้งมีตัวอย่างวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ประกอบเพื่อดูรูปแบบในกรณีอ่านคู่มือฯแล้วไม่เข้าใจ

หลังจากมีการตรวจสอบแก้ไขแล้ว นักศึกษาจะต้องเตรียมการเพื่อเข้าสอบเค้าโครงฯก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
การสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์นั้นนักศึกษาต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมอย่างดี นักศึกษาบางท่านอาจเกิดความวิตกกังวลในการสอบยิ่งกว่าการนำเสนอ 3 บทเพื่อการแก้ไขก่อนขึ้นสอบซะอีก อันที่จริงแล้วมันน่าจะเป็นขั้นตอนที่ผู้วิจัยควรผ่านพ้นไปได้โดยดุษฎี มั่นคง และมั่นใจ ทั้งนี้เพราะมันเป็นการนำเสนอผลงานของนักศึกษาเอง และตนเองก็ควรเป็นผู้ที่รู้เรื่องดีที่สุดในสิ่งที่ตนจะทำ ซึ่งถ้านักศึกษาได้สร้างสรรค์มันด้วยตนเองแล้วก็ไม่มีอะไรที่หนักใจ ใช่ไหม? การสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis)และแม้นกระทั่งการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์(Oral Thesis) ก็เสมือนเป็นการทบทวนสิ่งที่นักศึกษาได้พัฒนางานนั้นมาด้วยดัวของนักศึกษาเอง และเพื่อให้การสอบสัมฤทธิ์ผลอย่างดี นักศึกษาควรทำสรุปประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของเค้าโครงวิทยานิพนธ์และปฏิบัติตามข้อเสนอแนะในการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ดังนี้

ข้อปฏิบัติในการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์

1. ก่อนสอบนักศึกษาควรตั้งสติให้ดี ถ้านักศึกษาทำงานด้วยความซื่อสัตย์และเอาใจใส่มาตลอด ก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่ส่งในครั้งนี้เป็นเล่มเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่สมบูรณ์ นักศึกษาต้องเตรียมใจในการแก้ไขงานอีกครั้งหนึ่ง โดยยึดคำวิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบฯเป็นหลัก นักศึกษา ไม่ควรตื่นเต้นมากเกินไป ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่าเครียด หรือวิตกมากจนเกินเหตุ อาจทำอะไรเป็นการผ่อนคลายบ้าง และควรเข้านอนตอนหัวค่ำ เพื่อตื่นแต่เช้าในวันรุ่งขึ้นและเดินทางสู่ห้องสอบด้วยความแจ่มใส มั่นใจเต็มร้อย

2.ในการสอบฯ นักศึกษาควรมาถึงห้องสอบล่วงหน้าอย่างน้อยประมาณ 30 นาที และตรวจดูความเรียบร้อย เช่น เครื่องดื่มหรืออาหารว่างมีหรือไม่ ดูสภาพห้องสอบว่าที่นั่งของตนและที่นั่งของคณะกรรมการอยู่ที่ใด นักศึกษาควรใช้เวลาช่วงนี้ติดตั้งอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอข้อมูล อาจเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค หรือการเตรียมเปิดไฟล์หรือสไลด์ในการนำเสนอ

3.ก่อนขึ้นสอบฯ นักศึกษาควรทำสรุปสาระสำคัญ ลงในกระดาษแผ่นเดียว ให้ครอบคลุมสาระสำคัญของการวิจัยทั้งหมด อาจใช้แผนผังความคิด (Mind Mapping) หรือผังมโนทัศน์ (Concept Map) ในการสรุปสาระสำคัญของการวิจัยหรืออาจใช้คำย่อ สัญลักษณ์ และตารางช่วยให้สรุปอย่างเป็นระบบตามความจำเป็นได้ ส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยให้เข้าใจเรื่องที่วิจัยอย่างชัดเจน สามารถนำไปดูแล้วอธิบายการวิจัยได้อย่างกระชับและครบถ้วนโดยไม่ต้องเปิดอ่านในเล่มเค้าโครงวิทยานิพนธ์

4.ในการสอบฯ นักศึกษาควรมีการตรวจสอบหัวข้อทุกข้ออย่างละเอียด ชัดเจน รอบคอบ รัดกุมในทุกส่วน (โดยทั่วไปมักประกอบไปด้วย ภูมิหลัง ความเป็นมาของการวิจัย วัตถุประสงค์ ประโยชน์ ขอบเขต กรอบแนวคิด นิยามศัพท์เฉพาะ แนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สมมติฐาน(ถ้ามี)วิธีดำเนินการวิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล )ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เพราะเค้าโครงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตาม เป็นการป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา

5. นักศึกษา ส่วนใหญ่ เตรียมตัวมายังไม่ดีพอ เค้าโครงวิทยานิพนธ์มีความบกพร่องหลายแห่ง การนำเสนอไม่น่าสนใจ บางคนเสนอโดยการอ่านจากเอกสารที่เตรียมมาก การตอบคำถามบางครั้งไม่ตรงประเด็นหรือตอบไม่ได้ โดยเฉพาะในคำตอบที่เป็นการประเมินความรู้ ความเข้าใจในวิธีการ หลักการ ทั้งนี้เนื่องจากขาดความรอบรู้อย่างแท้จริง เตรียมตัวมาน้อย ดังนั้นเพื่อตัดข้อบกพร่องดังกล่าวนักศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมในการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์ โดยเตรียมการนำเสนอให้กระชับ รัดกุม เข้าใจง่าย น่าสนใจ ด้วยความคล่องแคล่วถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งเตรียมตอบคำถามต่าง ๆ ที่แสดงถึงการมีความรอบรู้ในเรื่องที่ทำวิทยานิพนธ์ เช่น เตรียมตัวก่อนสอบ 10 วัน เป็นต้น และควรซักซ้อมด้วยตนเองให้คล่องโดยเฉพาะถ้าได้ซักซ้อมกับอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ในส่วนสำคัญจะช่วยได้มาก

6. ด้านกรรมการสอบฯ ประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ทั้งประธานและกรรมการสอบ ซึ่งนักศึกษาก็คุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ก็อย่าประมาทเพราะอาจมีแง่มุมใหม่ และ/หรือ เพื่อทดสอบความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนของผู้วิจัยเองในประเด็นที่ควรรู้ และมีประโยชน์ต่องานที่จะดำเนินการต่อไป

7. พิธีการสอบก็จะเริ่มโดยที่ประธานจะให้นักศึกษานำเสนองานวิจัย ขอให้นักศึกษาคิดว่า การสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์เป็นเหมือนการนำเสนอบทความทางวิชาการในที่ประชุมครั้งใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรอ่านจากใช้โน้ตย่อ ควรนำเสนอจากความเข้าใจ ซึ่งไม่น่าจะยาก เนื่องจากเป็นงานของนักศึกษาเอง

ขั้นตอนทั่วไปการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

1)เมื่อคณะกรรมการสอบมาครบ ประธานคุมสอบก็จะให้นักศึกษารายงานเค้าโครงวิทยานิพนธ์ อาจให้กล่าวเฉพาะประเด็นที่สำคัญ เช่น เหตุผลที่เลือกทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้น วัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย (ประชากร กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล) ในขั้นตอนนี้นักศึกษาอาจนำเสนอโดยใช้สื่อต่าง ๆ เช่น แผ่นใส Power Point เป็นต้น การใช้สื่อต่าง ๆ จะช่วยให้รายงานได้ดี มีความน่าสนใจ ในการเตรียมสื่อผู้วิจัยได้มีโอกาสคิดวิธีนำเสนอ ได้สรุปเนื้อหาสาระที่สำคัญเพื่อนำเสนอ ช่วยในการจดจำสาระดังกล่าว และต้องเตรียมแผนสำรองกรณีที่มีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ไฟฟ้าดับ เป็นต้น ข้อสำคัญคือต้องทำการซักซ้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ตรวจสอบการใช้งานจนมั่นใจก่อนถึงเวลาสอบ

2)หลังจากนักศึกษารายงานเค้าโครงวิทยานิพนธ์ กรรมการสอบจะซักถามข้อสงสัย สอบถามเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของผู้ทำวิทยานิพนธ์ แม้กระทั่งการทักท้วงโต้แย้งในประเด็นต่าง ๆ ที่อาจเป็นข้อผิดพลาดของรายงานการวิจัยเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง นักศึกษาต้องแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ว่าตนมีความพร้อมที่จะทำเรื่องนี้ ตอบโดยแสดงความรู้อย่างถูกต้องชัดเจน รวมทั้ง แสดงความคิดเห็นด้วยความมั่นใจ อย่างไรก็ตามนักศึกษาต้องมีความอ่อนน้อม อ่อนโยน ถ้าไม่ เข้าใจหรือได้ยินคำถามไม่ชัดเจนหรือก็ขอให้กรรมการทวนคำถามอีกครั้งได้

ตัวอย่างคำถามในการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจ กรรมการมักจะถามนักศึกษา ที่ทำวิทยานิพนธ์ มีดังนี้
(1)ทำไมนิสิต ถึงทำเรื่องนี้ ได้ประโยชน์ในด้านใดบ้างหรือได้ประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
(2)ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นใคร ที่ไหน อย่างไร วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ได้มาอย่างไร ทำไมถึงเลือกวิธีการนี้
(3)เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
(4)สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
(5)ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย มีอะไรบ้าง
(6)เรื่องที่ทำ คิดว่าจะดำเนินการเสร็จหรือไม่ อย่างไร

3) กรรมการสอบจะทำการพิจารณาประเมินผลการสอบหลังจากการตอบคำถามเสร็จสิ้นแล้ว โดยปกติแล้วคณะกรรมการสอบก็มักจะให้นักศึกษาสอบผ่านเสมอแต่อาจต้องมีการแก้ไขงานบ้างจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป หลังจากทราบผลการสอบแล้ว ควรกล่าวขอบคุณกรรมการฯ และควรเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพื่อปรึกษาเรื่องการแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์และการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ถ้าสอบไม่ผ่าน คือนักศึกษาไม่รู้เรื่องจริง ๆ ตอบคำถามไม่ได้ คณะกรรมการก็จะเห็นควรให้นักศึกษาสอบใหม่อีกครั้ง กรณีเช่นนี้ในสาขาคณิตศาสตร์เรายังไม่เคยเกิดขึ้น รึว่าท่านจะเป็นคนแรก !?



ด้วยความปราถนาดี
ครูพี/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น