ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Maths/ปรนัย/หายนะ

สารบัญบทความ

บทความนี้ครูพีขอแสดงทัศนะเกี่ยวกับการนำเครื่องมือการวัดผลตัวหนึ่งที่เรียกว่า "ข้อสอบแบบปรนัย" หรือ "ข้อสอบแบบเลือกตอบ" มาใช้เพื่อการวัดประเมินผลทางคณิตศาสตร์ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้ในการปรับปรุงแก้ไขผู้เรียนเพื่อให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้หรือตัวชี้วัดที่กำหนด และ/หรือ การตัดสินผลการเรียนก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากครูผู้สอน นักวิจัย ทางด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นิยมใช้มากในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบนวัตกรรมต่าง ๆ ในการทดลอง หรือสำรวจ ตรวจสอบคุณภาพการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

โดยที่เนื้อหาสาระของคณิตศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่มีลักษณะเป็นนามธรรมที่ว่าด้วยความคิดและเหตุผล พูดง่าย ๆ ว่าเป็นศาสตร์ที่เสริมสร้างศักยภาพทางความคิดให้แก่ผู้เรียนได้อย่างวิเศษสุด สมกับคำกล่าวที่ว่า "เก่งคณิตศาสตร์ฉลาดทุกวิชา" สร้างคนให้เป็นคนที่ "คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเป็นสุข" พูดกันง่าย ๆ ว่า "เก่ง ดี มีความสุึข" และในมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็กำหนดไว้ในมาตรฐานด้านทักษะกระบวนการ ที่ผู้เรียนต้องมีคุณภาพทั้งด้านการแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมาย การนำเสนอ การเชื่อมโยง และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ล้วนเป็นคุณภาพสำคัญที่พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีความคิดเชิงวิเคราะห์ และมีวิจารณญาณบนฐานของข้อมูล และการให้เหตุผลเชิงตรรกยะที่สมเหตุสมผลแบบวิทยาศาสตร์ชนิดแบบ "พิสูจน์ วัด สัมผัสได้" แล้วการวัดและประเมินโดยมุ่งใช้ข้อสอบปรนัยเป็นหลักซึ่งง่ายต่อการตรวจให้คะแนนแต่บล็อกความคิดของคนว่ามันจะคุ้มกับการสูญเสียศักยภาพที่สำคัญของผู้เรียนคณิตศาสตร์ดังที่กล่าวมาเบื้องต้นหรือไม่

ในขณะนี้ข้อสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ ได้แพร่หลายในวงการศึกษาโดยทั่วไปของไทยอย่างกว้างขวางแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นขวัญใจของผู้ออกข้อสอบ และเป็นทักษะชีวิตสำคัญของผู้สอบ หรือนักเรียนเลยทีเดียว ครูอาจารย์จำนวนมากล้วนทราบถึงข้อดีของข้อสอบชนิดนี้และได้นำไปใช้ออกข้อสอบอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการเพิ่มมุมมอง และข้อสังเกตในการนำข้อสอบประเภทนี้ไปใช้ ครูพีจึงใคร่เสนอแนวคิดบางประการเกี่ยวกับข้อสอบประเภทนี้ ไว้ดังต่อไปนี้

ผลเสียของข้อสอบแบบเลือกตอบ
(1) ปิดโอกาสการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เรียน เนื่องจากข้อสอบประเภทนี้ผู้พัฒนาข้อสอบได้คิดคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้ว ผู้ตอบต้องคิดหรือตอบภายในกรอบ(คอก)ที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น

(2) ข้อสอบประเภทนี้ให้โทษแก่ผู้ตอบที่เห็นประเด็นสำคัญยิ่งกว่าผู้ตอบโดยทั่วไปหรือผู้ออกข้อสอบเองอาจไม่ตระหนักรู้ขาดความรอบคอบในการกลั่นกรองตัวเลือกที่ถูกต้อง เป็นข้อสอบที่ไม่ยุติธรรมเข้าข้างผู้รู้แนวคิดอย่างผิวเผิน เพราะปัญหาที่ต้องใช้ความคิดจริง ๆ ไม่อาจสร้างในรูปตัวเลือกได้อย่างสะดวก ตัวอย่าง เช่น

จงเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด
1. กรณฑ์ที่สองของ 3 ตรงกับข้อใด
ก. 1.73 ข. 1.742 ค. 1.83 ง. 1.812

2. สาขาคณิตศาสตร์ในข้อใดต้องใช้เหตุผลมากที่สุด
ก. เลขคณิต ข. พีชคณิต ค. เรขาคณิต ง. สถิติ

จะเห็นว่า ข้อ 1 นั้น ผู้เรียนที่รู้แนวคิดคณิตศาสตร์แบบผิวเผินจะเลือกคำตอบ ข แต่ถ้าผู้เรียนเข้าใจแนวคิดคณิตศาสตร์อย่างแท้จริงทราบว่ากรณฑ์ที่สองของ 3 นั้นเป็นจำนวนอตรรกยะ จึงไม่มีตัวเลือกใดถูกต้อง เพราะทุกคำตอบที่กำหนดล้วนเป็นจำนวนตรรกยะทั้งสิ้น อาจเป็นเหตุให้ผู้เรียนที่ฉลาดเข้าใจในแนวคิดอย่างทั่วถึงชัดเจน มีความคิดต่อต้านรุนแรงจนถึงอาจเลิกทำข้อสอบ เพราะเห็นว่าผู้ออกข้อสอบไม่รู้จริง จึงไม่อาจวัดความสามารถเขาได้ เด็กฉลาดที่มีความคิดเห็นไม่รุนแรง หรือมีความจำเป็นต้องทำข้อสอบเพราะหมายถึงการตัดสินชะตาชีวิตของเขา อาจปลงใจได้ว่า "คนที่โง่พอที่จะออกข้อสอบเช่นนี้ ก็คงโง่พอที่จะคิดว่าข้อ ข เป็นตัวเลือกที่ถูกต้อง" ถ้ามีคนคัดค้านการออกข้อสอบเช่นนี้ผู้ออกข้อสอบก็อาจให้เหตุผลว่า ไม่ได้ให้ผู้ตอบเลือกคำตอบที่ถูก แต่ให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด จะเห็นว่าผู้ออกข้อสอบใช้ความไม่ชัดเจนคลุมเครือของคำว่า ถูกที่้สุด แก้ไข/ปิดบังความไม่เข้าใจในแนวคิดคณิตศาสตร์นั้น
สำหรับ ข้อ 2 นั้นผู้ออกข้อสอบคงคิดว่าตัวเลือก ค ถูกต้อง แต่ผู้ที่เข้าใจลักษณะของคณิตศาสตร์อย่างแท้จริงแล้วย่อมเห็นว่า ทุกสาขาของคณิตศาสตร์ต่างต้องใช้เหตุผลมากทัดเทียมกันเพราะต่างก็เป็นคณิตศาสตร์เช่นเดียวกัน เมื่อจำเป็นต้องตอบก็ต้องเดาใจผู้ออกข้อสอบโดยเลือกข้อ ค

อุทาหรณ์ที่ยกมานี้นักวัดผลบางท่านอาจเห็นว่ามันไม่น่าจะมีผลเลวร้ายอะไร เพราะสุดท้ายแล้วผู้ตอบที่ฉลาดก็ต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดและได้คะแนนข้อนั้นไป การตอบเช่นนี้แสดงถึงความไม่ประณีต รอบคอบของนักวัดผลเหล่านั้น การที่ผู้ตอบซึ่งฉลาด สุขุม ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยใช้เวลานานในการเลือกคำตอบมากกว่าเด็กที่รู้เพียงผิวเผินเสมือนเป็นการลงโทษเด็กฉลาด ทำให้เขาคิดผิดไปว่าความสุขุมรอบคอบไม่สำคัญ หรืออาจคิดว่าการศึกษาส่วนใหญ่ส่งเสริมความไม่ซื่อสัตย์ต่อความจริง ดังนั้นจึงไม่ควรศึกษาต่อไป เป็นการสร้างเจตคติที่ไม่ดีต่อการศึกษาคณิตศาสตร์ได้

(3) ข้อสอบประเภทนี้พิจารณาเฉพาะคำตอบหรือผลสรุปสุดท้าย ไม่ได้พิจารณาถึงคุณภาพของความคิดที่นำไปสู่ผลสรุปนั้น
นักเรียนที่มีความคิดเชื่อมโยงมีเหตุผลตามลำดับขั้นตอนโดยอ้างอิงข้อมูลและทฤษฎีที่ถูกต้องแม้นจะสรุปผลผิด ย่อมสมควรให้คะแนนสูงกว่านักเรียนที่สรุปผลถูก ต้องให้เหตุผลเลอะเลือนสับสน ถ้านักเรียนสองประเภทนี้ตอบข้อสอบแบบเลือกตอบ คนประเภทเเรกสอบตก แต่คนประเภทหลังกลับได้คะแนนสูง

(4) ข้อสอบประเภทนี้ละเลยต่อทักษะในการสื่อความหมาย สื่อสาร และการนำเสนอ
ทักษะการสื่อความหมาย สื่อสาร และการนำเสนอ ซึ่งต้องใช้ความสามารถทั้งการพูด อ่านและเขียน จำเป็นต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ เมือข้อสอบเป็นปรนัยชนิดเลือกตอบเท่านั้น ก็จะมีอิทธิพลให้ผู้สอนไปในแนวซึ่งไม่เน้นถึงความสำคัญของทักษะเหล่านี้ มุ่งแต่เพียงให้ทราบข้อเท็จจริง อันเป็นการละเลยต่อทักษะชีวิตที่สำคัญในการดำรงอยู่ของมนุษย์


การใช้ข้อสอบประเถทเลือกตอบนั้นในบางสถานการณ์ก็มีความจำเป็น และมีประโยชน์มาก แต่ผู้ออกข้อสอบควรตระหนักถึงความวิบัติเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหาทางที่จะทำให้เกิดข้อเสียหายต่อคุณภาพเชิงวิชาการทา่งคณิตศาสตร์ให้น้อยที่สุด ผู้สอนที่ไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาอย่างถ่องแท้แล้วใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบสามารถนำประเทศชาติไปสู่หายนะได้นะ...จะบอกให้...



หมายเหตุ
ปรัชญาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ สรุปเป็นแนวคิดสำคัญดังนี้

1. หลักการหรือกฏเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่นักคณิตศาสตร์ได้คิดค้นขึ้น การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ควรหาแนวทางหรือชี้แนะให้นักเรียนได้ค้นพบหลักการต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง
2. โดยธรรมชาติแล้วคณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นนามธรรม การเรียนการสอนควรเริ่มจากความคิดรวบยอดที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม
3. การสอนคณิตศาสตร์ควรมุ่งการประยุกต์ หรือการนำไปใช้




ด้วยความปราถนาดี

ครูพี
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น