ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นักวิจัยมือใหม่ GET IT !




สารบัญบทความ


ข้อคิดในการทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์




่ช่วงนี้มีลูกศิษย์บัณฑิตศึกษาสาขาคณิตศาสตร์หลายท่านที่กำลังง่วนอยู่กับการจัดทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เพื่อเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาตรวจแก้ไขให้คำแนะนำก่อนที่จะขึ้้้นสอบปากเปล่าต่อไป ครูพีมีข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวทางบางประการให้การจัดทำเป็นไปอย่างถูกต้องตามครรลองของระเบียบการทำวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อให้ไม่ต้องแก้ไข หรือต้องแนะนำกันซ้ำซากในข้อผิดพลาดเดิม ๆ  ดังนี้

ข้อ 1  เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่พิมพ์เอกสารเอง หลายท่านไม่แม่นในระเบียบตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ฯ จึงมีข้อผิดพลาดทั้งรูปแบบ ตัวอักขระที่ใช้ หัวข้อต่าง ๆ ตามโครงสร้างที่กำหนดในระบบเอกสาร  ดังนั้นเวลาพิมพ์เอกสาร ควรมีทั้งคู่มือการจัดทำวิทยานิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ตัวอย่าง (ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ) มาเตรียมพร้อมไว้ใกล้ตัวเสมอเพื่อการอ้างอิง

ข้อ 2 การจัดริมขวาของเอกสารที่กำหนดไว้ให้ตรงกันนั้นก็เพื่อความสวยงาม เป็นระเบียบ แต่ทั้งนี้ก็มิใช่สิ่งตายตัวที่ดิ้นไม่ได้ ถ้าเห็นว่าจะทำให้เกิดการแยกหรือฉีกคำไม่เหมาะสมในบางจุดอาจต้องไม่ตรงกันบ้างก็ไม่เสียหายอะไร   เช่นคำศัพท์ที่เป็นคำเดียวกันถูกแยกพิมพ์ไว้คนละบรรทัดก็ไม่เหมาะสม
        เทคนิคที่ครูพีมักนำมาใช้เสมอในกรณีดังกล่าวคือ การขยับช่องไฟในคำเชื่อมเช่น และ แต่ หรือ เป็นต้น อาจพิมพ์แยก หรือชิดติดกับข้อความหลักก็ได้  แต่การเว้นช่องไฟก็อย่าให้ห่างไปจนน่าเกลียด

ข้อ 3 การพิมพ์ชื่อชาวต่างชาติให้พิมพ์ทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะตามคู่มือฯกำหนดไว้เช่นนั้น  ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งดีที่ยึดตามเกณฑ์นี้เพราะเมื่อพิมพ์ออามาเป็นคำไทยแล้วไม่รู้ว่าสะกด การันต์ ถูกหรือเปล่า

ข้อ 4 คำศัพท์วิชาการที่ใช้ต้องสอดคล้องต้องกันทั้งเล่ม และใช้ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตฉบับล่าสุดที่กำลังใช้  เช่นคำว่า concept ปัจจุบัน ใช้ "แนวคิด" ก็ควรใช้คำนี้เป็นบรรทัดฐาน มิใช่มีทั้ง มโนมติ มโนทัศน์ ความคิดรวบยอด หรือ บางคนอาจหลงยุคใช้คำว่า สังกับ โผล่เข้ามาในบางหน้าของเอกสารก็อาจเป็นได้เพราะอ้างอิงเอกสารที่เก่ามาก(ตัวเองยังไม่เกิด)    หลายท่านอาจสงสัยว่าก็เอกสารหลากหลายต่างยุคสมัยที่อ้างอิงนั้้นใช้คำต่างกันแล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะ เรื่องนี้ครูพีมีทางออกด้วยวิธีการเรียงถ้อยความนั้นใหม่ก็สามารถปรับคำศัพท์เจ้าปัญหานั้นได้ แต่ต้องระวังการเก็บถ้อยความที่เรียบเรียงนั้นต้องสมมูลกับถ้อยความเดิม เดี๋ยวเจ้าของผลงานมาอ่านเข้าจะงงว่าตัวเองเคยกล่าวความนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่

ข้อ 5  เอกสารอ้างอิงไม่ควรเก่าเกินสิบปี โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านการเรียนการสอนไม่ควรจะเกิน 3 หรือ 5 ปี ด้วยซ้ำ เพราะ events หรือ contexts ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร นวัตกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งที่นำมาอ้างอิงอาจล้าสมัยไปแล้ว   ส่วนหนังสือที่เป็น classic อาจเก่าเกินสิบปีได้  แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นหนังสือที่แต่งโดยใครก็ควรเป็นฉบับล่าสุดของหนังสือชื่อนั้นที่ได้รับการตีพิมพ์ เนื่องจากหนังสือที่พิมพ์ล่าสุดก็จะมีการ update ข้อมูลให้ถูกต้อง เหมาะสมและทันสมัยมากขึ้น

ข้อ 6  การอ้างอิงงานวิจัยภายในประเทศโดยทั่วไปจะต้องไม่ต่ากว่า 10 ชื่อเรื่อง  ส่วนงานวิจัยในต่างประเทศต้องไม่ต่ำกว่า 5 ชื่อเ้รื่อง

ข้อ 7 กลุ่มตัวอย่าง ถ้าเป็นการชักตัวอย่างแบบเจาะจง (purpossive sampling) โดยทั่วไปแล้วไม่อาจใช้สถิติเชิงอนุมาน เช่น  t หรือ z ในการทดสอบสมมุติฐานเพื่ออ้างอิงประชากรได้  เพราะขัดข้อตกลงเบื้องต้นในการใช้สถิติเหล่านั้น

ข้อ 8  ผู้ที่เป็นครูสอนโรงเรียนขนาดเล็ก ๆ อาจกำหนดประชากรเป็นกลุ่มเครือข่ายเพื่อขยายปริมาณให้เพิ่มขึ้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบเชิงวิชาการ ตระหนักถึงความเหมือน และความแตกต่างของแต่ละหน่วยข้อมูลด้วยเพื่อนำไปสู่การชักตัวอย่างสุ่มที่เหมาะสม

ข้อ 9  บทที่ 2 ที่ว่าด้วยแนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  เอกสารทั้งหลายที่กล่าวถึงในบทนี้นอกเหนือจะนำไปใช้ในการกำหนดกรอบแนวคิด และการออกแบบงานวิจัย แล้วยังมีความสำคัญต่อการอภิปรายผลในบทที่ 5 ของรายงานการวิจัย การอ้างอิงผลการวิจัยว่าสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับแนวคิด หลักการ ผลการศึกษาของใครจะต้องเป็นสิ่งที่อ้างอิงไว้ก่อนแล้วในบทที่ 2 เท่านั้น

ข้อ 10  ความในบทนำ วรรคสุดท้ายหลังจากมีการชักแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องทำการวิจัยในครั้งนี้  เมื่อการวิจัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ก็มักจะกล่าวถึงเนื้อหาและระดับชั้นที่จะทำการวิจัย  ซึ่งก็ควรให้เหตุผลประกอบว่าทำไมต้องเลือกเนื้อหานี้ และทำกับระดับชั้นนี้  ซึ่งอาจจะเป็นในเชิงของปัญหา  ประโยชน์ หรือความเหมาะสมกับนวัตกรรมที่ใช้

ข้อ 11 การเสนอเค้าโครงฯ ผู้วิจัยยังไม่ได้ดำเนินการวิจัยแต่อย่างไร ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลในบทที่ 3 ที่ว่าด้วยการดำเนินการวิจัยในขั้นตอนที่กล่าวถึงการหาคุณภาพของเครื่องมือมีหลายคนที่ระบุผลในการพัฒนาเครื่องมือมาเลย เช่นการระบุค่า IOC หรือค่า p, r ของแบบทดสอบเจาะจงลงไปเลย  ทำให้สงสัยว่าลอกมาจากที่ใดงานยังไม่ได้อนุมัติ เครื่องมือยังไม่ได้สร้าง แต่มีผลการ try out ออกมาแล้วมันเป็นเรื่องพ้นวิสัย   จะใส่ไว้ได้ก็เฉพาะเกณฑ์มาตรฐานเชิงวิชาการทั่วไปเท่านั้น

ข้อ 12  การใช้สูตรไม่สอดคล้องต้องกันโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือที่เป็นแบบทดสอบ ที่ต้องมีการวัดความยาก อำนาจจำแนก และความเชื่อมั่น   บางคนระบุว่าแบบทดสอบเป็นชนิดอิงเกณฑ์ หาค่า p, r
แบบอิงเกณฑ์ แต่กลับไปใช้สูตร KR 20 หรือ KR 21 ในการหาความเชื่อมั่น ทั้ง ๆ ที่สูตรนี้ใช้วัดความเชื่อมั่นของแบบทดสอบแบบอิงกลุ่ม  ต้องระวัง!  และในสูตรการหาความเชื่อมั่นแบบอิงเกณฑ์เองนั้นจะมีค่า C ซึ่งเป็นเกณฑ์การรอบรู้ เมื่ีอถามว่าใช้ C เท่าไหร่ กลับตอบไม่ได้แล้วจะใช้สูตรนี้ได้อย่างไร

ข้อ 13 การใช้สูตรทดสอบที (t-test) แบบสองกลุ่มอิสระ มีสองสูตรคือกรณี variance เท่ากับไม่เท่า เวลาเขียนเค้าโครงจะไปชี้้เปรี้ยงเลยว่าใช้สูตรนั่นนี่เลยไม่ได้ ต้องแจงออกมาเป็นกรณี และแต่ละกรณีใช้สูตรอย่างไร องศาเสรีเท่าไร     ยกเว้นว่าสองกลุ่มอิสระดังกล่าวมาขนาดเท่ากัน (n1 = n2) ก็สามารถระบุได้ว่าใช้สูตรกรณี variance เท่าได้เลย  
        แต่อย่างไรก็ตามในฐานะคนเรียน Maths มาก็อย่าไปละเมิดข้อตกลงเบื้องต้นที่กำหนดไว้ของการใช้สูตร  ตรวจสอบเทียบเคียงว่าในบริบทของข้อมูลที่จะประมวลผลนั้นสามารถใช้ได้หรือไม่    ต้องตระหนักรู้ใน validity ของผลว่าต้องมาจากเหตุปัจจัยที่ถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น

ข้อ 14  การตั้งสมมุติฐาน  เราจะตั้งเป็นสมมุติฐานเพื่อการทดสอบด้วยข้อมูลเฉพาะจุดที่ต้องใช้สถิติเชิงอนุมานเท่านั้น เช่นจุดที่ต้องใช้การทดสอน t, z, F หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ด้วยความปราถนาดี
ครูพี//












Link : การเตรียมตัวสอบเค้าโครงฯ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น