ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วิจัย...อ้างอิง...ยุ่งจริง

ในการตรวจรายงานการวิจัยของผู้ประเมินผลงานไม่ว่าจะใน platforms ใดก็ตาม จะสังเกตเห็นข้อบกพร่องของระบบการอ้างอิงของเจ้าของผลงาน อาจจะเป็นด้วยความไม่รู้ หรือไม่ประณีตรอบคอบในการตรวจสอบ อันเป็นเหตุให้ผลงานขาดความน่าเชื่อถือ เสมือนเป็นการฉ้อฉลข้อมูล การไม่ให้เกียรติเจ้าของผลงานที่ตนอ้างอิง ดังนั้นผู้วิจัยจะต้องตระหนักรู้และเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วย ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ หรือปริญญานิพนธ์ คณะกรรมการสอบย่อมไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ผ่านไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่ 2 ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วยการทบทวนวรรณกรรม เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากกว่าบทอื่น

ผู้เขียนขอนำเสนอข้อบกพร่อง/ผิดพลาดเชิงประจักษ์ที่สังเกตเห็นจากประสบการณ์ในการตรวจประเมินผลงานดังต่อไปนี้

1. การอ้างอิงภายในเล่ม และในบทบรรณานุกรมไม่ตรงกัน เช่น ชื่อ/สกุล เจ้าของผลงานทั้งการสะกด/การันต์ ปีที่พิมพ์ไม่ตรงกัน

2. มีการอ้างอิงภายในเล่ม แต่ไม่มีในบทบรรณานุกรม หรือมีในบทบรรณานุกรมแต่ไม่มีการอ้างอิงภายในเล่ม

3. อ้างอิงเอกสารที่เป็น primary sources ทั้ง ๆ ที่เป็น secondary sources สังเกตจากการที่ไม่มีหมายเลขหน้ากำกับไว้

4. อ้างอิงเอกสารงานวิจัยที่เก่าเกินไป (ไม่ควรเกินสิบปี )โดยเฉพาะการวิจัยทางสังคมศาสตร์ซึ่งบริบท กรอบแนวคิดต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากในสังคมเครือข่ายไร้ข้อจำกัดแห่งกาลเวลา ความคิดเปลี่ยนการกระทำก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นหลักทฤษฎีอาจเกินสิบปีได้ แต่ควรอ้างอิงเอกสารที่พิมพ์ใหม่ที่สุดของเจ้าของผลงานนั้นเพื่อดูสาระเพิ่มเติมที่มีประโยชน์ หรือการแก้ไขข้อมูลในเชิงทฤษฎีที่เป็นปัจจุบัน และเป็นประโยชน์ต่อการอ้างอิงต่อไป

5. การวางระบบการอ้างอิงเอกสารโดยเฉพาะหัวข้อที่ว่าด้วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ควรเป็นการจัดเรียนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ตามเหตุและผลโดยคำนึงถึงลำดับเวลาก่อนหลังประกอบด้วย เพราะบางชิ้นงานเสนออย่างขาดระบบเป็นการตัดต่อแถมไม่เรียงลำดับเหตุการณ์... มั่วสุด ๆ ว่างั้นเถอะ!

6. บุคคลที่อ้างอิงควรเป็นที่ยอมรับ และน่าเชื่อถือในวงการนั้น ๆ สิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนมุมมองของผู้วิจัยเป็นอย่างดีว่า มีความพิถีพิถัน และรู้จริงในสิ่งที่ตนอ้างอิงมากน้อยเพียงใด ... การอ้างอิงใครย่อมสะท้อนใจของผู้อ้างอิงออกมาได้เป็นอย่างดี ... ว่ารู้จักการเลือกสรรกลั่นกรองคุณค่ามากน้อยต่อความน่าเชื่อถือแก่งานของตนหรือไม่เพียงใด

7. การอ้างอิงเฉพาะบทคัดย่อ และ/หรือ แหล่งข้อมูลที่เป็น secondary sources ย่อมทำให้คุณค่าของงานวิจัยขาดความน่าเชื่อถือ (ไม่ควรเกินร้อยละ 30) และควรมีการอ้างอิงงานวิจัยต่างประเทศด้วยตามเกณฑ์คุณภาพที่กำหนด เช่นอ้างอิงงานวิจัยในประเทศอย่างน้อย 10 เรื่อง งานวิจัยในต่างประเทศอย่างน้อย 5 เรื่อง ยกเว้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก หาผลงานที่เกี่ยวข้องไม่พบ) เป็นต้น

8. มาตรฐานการเขียนบรรณานุกรมนั้นต้องใช้เป็นแบบเดียวกัน แต่ที่เห็นปรากฏอยู่ในเล่มเดียวกันมีหลากหลายมาก ดังนั้นถ้าเป็นงานวิจัยในสถาบันใดก็ต้องยึดคู่มือการทำปริญญา/วิทยา นิพนธ์ของสถาบันนั้นเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปัจจุบันนักศึกษาหรือผู้ทำวิจัยมักพิมพ์เองซึ่งขาดความชำนาญต้องตรวจสอบรูปแบบอย่างละเอียด มิฉะนั้นเวลาถึงคราวที่จำต้องแก้ไขปรับปรุงแล้วจะหนาว ... ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม


ด้วยความปราถนาดี
krupee/


มหาพุทธมนต์
"นัมเมียว โฮเร็ง เงเคียว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น