ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กรอบแนวคิดในการวิจัย...เขียนได้ถูกหรือ?

เขียนกรอบแนวคิดในการวิจัยอย่างไรถูก เพราะมีรูปแบบหลากหลายชวนฉงนฉงาย บางครั้งเป็นแผนภูมิแสดงขั้นตอนวิธีในการวิจัยในเรื่องนั้น ๆ แต่บางครั้งกลับเป็นแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม เราเองก็เคยชอบวิธีการแรกและเคยนำเสนอในผลงานวิจัยของตนเองมาแล้ว คิดขึ้นมาคราใดก็อดอายย้อนหลังไม่ได้ ... แต่วิธีการดังกล่าวนั้นมันมีใช้จริง ๆ เมื่อตรวจสอบคณะกรรมการสอบ และคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ก็ล้วนน่าเชื่อถือ ... แต่มันเป็นวิธีการที่ผิดพลาดจากหลักการในการเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัยที่เป็นสากล

การเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัยนั้นจะต้องเป็นการเขียนภาพประกอบแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ(ตัวแปรต้น) กับตัวแปรตามที่จะศึกษา ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนซึ่งเป็นวิธีการที่ยอมรับได้โดยทั่วไป แต่วิธีนี้อาจเข้าใจเฉพาะนักวิจัยเท่านั้น ผู้อื่นที่มาศึกษาอาจไม่เข้าใจว่าตัวแปรเหล่านี้ได้มาอย่างไร ต้องเสียเวลาไปอ่านทั้งฉบับ ดังนั้นนักวิจัยบางท่านจึงเห็นว่าควรระบุที่มาของกรอบแนวคิดไว้เป็นการแนะนำผู้อ่านให้เข้าใจเร็วขึ้น

กรอบแนวคิดในการวิจัยเป็นผลสรุปจากการศึกษาทฤษฎีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อปัญหาวิจัย ซึ่งผู่้วิจัยได้สรุปเป็นแนวคิดของตนเอง สำหรับการดำเนินการวิจัยของตน ก่อนการกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัยนั้นผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษา ทฤษฎีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้มากพอว่ามีใครเคยทำวิจัยเรื่องทำนองนี้มาบ้าง ทำอย่างไร และข้อค้นพบของการวิจัยมีอะไรบ้างแล้วนำมาประกอบเป็นการวางแผนการวิจัยของตน

การเสนอกรอบแนวคิดในการวิจัยอาจทำได้หลายวิธี ได้แก่
1. คำพรรณนา
2. แบบจำลอง หรือสัญลักษณ์และสมการ
3. แผนภาพ
4. แบบผสมผสาน

เกณฑ์มาตรฐาน การเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัย
1. ตัวแปรแต่ละตัวที่เลือกมาศึกษา ต้องมีพื้นฐานเชิงทฤษฎีว่ามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการศึกษา
2. มีความตรงประเด็นในด้านเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านตัวแปรอิสระหรือตัวแปรที่ใช้ควบคุม
3. มีรูปแบบสอดคล้องกับความสนใจและหรือวัตถุประสงค์ในการวิจัย
4. ระบุรายละเอียดของตัวแปร และหรือ สามารถแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรได้ชัดเจนด้วยสัญลักษณ์หรือแผนภาพ


ด้วยความปราถนาดี
ครูPEE/

"รู้จำ รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง ในสิ่งที่สอน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น