ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการเขียนบทความวิจัย






ตามประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ และภาคนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2548 ได้กำหนดให้ผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาต้องได้รับการเผยแพร่ นั่นตือ ในระดับปริญญาโทต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding) ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้นการเผยแพร่ผลงานต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่มีกรรมการภายนอกมาร่วมกลั่นกรอง(Peer Review)ก่อนการตีพิมพ์และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
โดยทั่วไปนักศึกษาจะเผยแพร่ผลงานในรูปบทความวิจัย นอกเหนือจากจะดูตัวอย่าง รูปแบบจากบทความเก่าแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจและใช้เป็นบรรทัดฐานในการเขียน วันนี้ครูพีจึงได้นำแนวทางการเขียนบทความวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์ที่กำหนดโดยบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มาแจ้งแก่ผู้สนใจทราบซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในการอ้างอิงมีรายละเอียดดังนี้


บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กำหนดแนวทางการเขียนบทความวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อประกอบการขอสำเร็จการศึกษา จำนวนไม่เกิน 10 หน้า (ใช้ตัวอักษร Angsana ขนาด 14) มีหัวข้อดังนี้

1. ชื่อเรื่องวิทยานิพนธฺภาษาไทย (จัดกลางหน้ากระดาษตัวทึบ)
2. ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษ(จัดกลางหน้ากระดาษตัวทึบ)
3. ชื่อผู้วิจัย(จัดกลางหน้ากระดาษ และมีสัญลักษณ์ * ท้ายนามสกุลผู้วิจัย)
4. คำว่า บทคัดย่อ(พิมพ์ตัวทึบจัดกลางหน้ากระดาษ) ให้นำบทคัดย่อภาษาไทยมาลง
5. บรรทัดสุดท้ายหน้าแรกให้ระบุรายละเอียดของสัญลักษณ์ * ว่าเป็นปริญญาอะไร สาขาวิชาใด และรายนามคณะกรรมการที่ ปรึกษาวิทยานิพนธ์
6. คำว่า Abstrct(พิมพ์ตัวทึบจัดกลางหน้ากระดาษ)ให้นำบทคัดย่อภาษาอังกฤษมาลง
7. คำว่า คำสำคัญ ให้นำคำหลักที่สำคัญ ๆ จากชื่อเรื่อง หรือตัวแปร มาลงโดยไม่ต้องให้ความหมาย
8. บทนำ ให้บรรยายความสำคัญจำเป็นที่ต้องทำวิจัยอย่างสรุป ไม่ควรเกิน 1-2 หน้า
9. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ให้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การวิจัยเป็นข้อ ๆ
10. ขอบเขตของการวิจัย ให้ระบุประชากร-กลุ่มตัวอย่าง (ระบุวิธีการได้กลุ่มตัวอย่าง) ที่ใช้ในการวิขัย ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย เนื้อหาหรือแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัย (ถ้ามี)
11. วิธีดำเนินการวิจัย ให้ระบุชื่อเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย พร้อมค่าสถิติที่แสดงค่าคุณภาพของเครื่องมือ(อย่างสรุปย่อ)
12. การวิเคระห์ข้อมูล ให้ระบุชื่อสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างย่อ ๆ
13. สรุปผลการวิจัย ให้เสนอผลการวิจัยในภาพรวมอย่างสรุปย่อ ตามวัตถุประสงค์การวิจัยเท่านั้น
14. อภิปรายผลการวิจัย ให้แสดงเหตุผลทางวิชาการถึงสิ่งที่พบจากการวิจัยโดยมีเอกสารอ้างอิง และนำเสนออภิปรายผลเท่าที่จำเป็นอย่างชัดเจนครอบคลุม
15. ข้อเสนอแนะ ให้ข้อเสนอแนะที่จำเป็นและสำคัญที่ได้จากผลการวิจัยที่พบ
16. กิตติกรรมประกาศ แสดงควสมขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับงานวิทยานิพนธ์อย่างย่อ ๆ
17. บรรณานุกรม ใช้การอ้างอิงเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ตรงกับเอกสารในบทความเท่านั้น (ไม่ใช่คัดลอกเอกสารทุกเล่มจากรายงานวิจัย)

_________________________________________________________

หมายเหตุ
ก.บทความการเขียนบทความให้มีคุณภาพนั้น ผู้เขียนควรทราบถึง แนวคิด ความหมาย หลักการต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานในการเขียนเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผลงานนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการที่เป็นสากล ครูพีจึงขอนำรายละเอียดดังกล่าวนี้มาเล่าสู่ฟังเพื่อเป็นสารสนเทศแก่ผู้เข้ามาเยื่ยมชม ไม่ต้องเสียเวลาไปค้นคว้าหารายละเอียดจากที่ใดอีก

ความหมายของบทตวาม บทความคือรูปแบบหนึ่งของการส่งทอดข้อมูลที่ผู้เขียนสามารถแสดงความรู้สึก ทัศนคติ และค่านิยมส่วนตัวออกมาในบทความนั้น ๆ ได้

ประเภทของบทความ
1. บทความวิชาการ เป็นบทความที่ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะชี้เน้นประเด็นสำคัญบางประเด็นในวิชาการใดวิชาการหนึ่งพร้อมทั้งสอดแทรกความคิดเห็นและข้อสรุปของตนเองเพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปทราบและเข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับและใช้ประโยชน์ต่อไป หรือเพื่อเสริมและแจกแจงวิชาการนั้นให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีทฤษฎีหรือหลักการเบื้องต้นประกอบด้วย
2. บทความปริทัศน์ เป็นบทความแสดงการวิเคราะห์เปรียบเทียบ และวิจารณ์ผลงานของผู้อื่นที่ได้ตีพิมพ์แล้ว รวมทั้งเป็นการรวบรวมสรุปผลงานของหลาย ๆ คน แล้วนำมาจัดกลุ่มเปรียบเทียบและวิจารณ์
3. บทความวิจัย เป็นบทความเสนอผลงานที่ได้ศึกษาวิจัยมาและเป็นสารที่เหมาะกับผู้มีความรู้ความชำนาญเช่นเดียวกับผู้เขียน
4. บทความงานพัฒนา เป็นบทความที่เสนอผลการพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งบทความนั้นต้องสามารถอธิบาย แจกแจง ให้ผู้อ่านเห็นความแตกต่างระหว่างก่อนการพัฒนาและหลังการพัฒนาได้อย่างชัดเจน
5. บทความทั่วไป เป็นบทความเสนอข้อมูลทางวิชาการพื้น ๆ หรือข้อคิดเห็นทั่ว ๆ ไป ไม่แสดงออกถึงความเชี่ยวชาญในวิชาการนั้น ๆ เป็นบทความที่บุคคลทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจหลักการแนวคิดของผู้เขียนได้

หลักในการเขียนบทความ1. มีความถูกต้องในแง่ของข้อเท็จจริงที่นำมาประกอบการเขียนบทความ ทั้งนี้เพราะบทความทุกชนิดเป็นแหล่งข้อมูลที่ผู้อื่นสามารถนำไปอ้างอิงต่อได้
2. ต้องเป็นการให้ความรู้แก่ผู้อ่าน
3. มีการจัดลำดับนำเสนออย่างดี ไม่ข้ามไปข้ามมา
4. ชัดเจน รัดกุม โดยการใช้ถ้อยคำหรือสำนวนที่สั้น ๆ หรือยาวพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ถูกต้องแจ่มแจ้ง ไม่เขียนอย่างยืดเยื้อ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องห้วนและแห้งแล้งเหมือนมะนาวไม่มีน้ำ
5. ให้ความกระจ่าง อย่าลืมว่าผู้อ่านไม่ได้มีข้อมูลและพื้นฐานความรู้เหมือนกับเรา อะไรที่เราเห็นว่าเข้าใจได้ง่าย ๆ นั้นผู้อ่านอาจไม่รู้เรื่องเลยก็ได้




ข. การนำเสนอบทความวิจัย (Research Article)
ในการนำเสนอรายงานวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยนั้นอาจทำได้หลายลักษณะ เช่น การนำเสนอปากเปล่า การนำเสนอเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ หรือการเขียนเป็นบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ซึ่งการนำเสนอในรูปบทความวิจัยมีรายละเอียดดังนี้

บทความวิจัย เป็นเอกสารทางวิชาการประเภทเดียวกับรายงานการวิจัย แต่มีลักษณะต่างจากรายงานการวิจัย 3 ประการ คือ

(1) บทความวิจัยมีความยาวจำกัด จำนวนหน้าน้อยกว่ารายงานการวิจัย จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอในวารสาร สื่อสิ่งพิมพ์ หรือที่ประชุมสัมมนา

(2) บทความวิจัยเป็นเอกสารทางวิชาการที่มีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์มากกว่ารายงานการวิจัย เพราะสามารถตัดต่อผลการวิจัยบางส่วนมานำเสนอ เพื่อเผยแพร่หรือตรวจสอบความคิดได้

(3) คุณภาพของบทความวิจัยค่อนข้างเป็นมาตรฐานกว่ารายงานการวิจัย เนื่องจากการพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาสาระ และรูปแบบการจัดพิมพ์ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของวารสารหรือคณะกรรมการประชุม บทความวิจัยจึงมีคุณค่าสำหรับนักวิชาการทุกคน โดยเฉพาะนักวิจัย เพราะเป็นตัวเชื่อมความรู้ในอดีตกับความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยในการเสริมสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ

นักวิจัยที่ต้องการเผยแพร่ผลงานวิจัยของตนโดยการตีพิมพ์ในวารสารต้องศึกษาลักษณะของวารสารที่มีการจัดทำอยู่ในวงการวิชาการ ต้องรู้จักคัดสรรวารสารที่มีนโยบายหรือวัตถุประสงค์สอดคล้องกับเนื้อหาสาระของผลการวิจัยที่ต้องการนำเสนอ ประเภทของวารสารแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ประเภทแรกเป็น วารสารทางวิชาการเฉพาะทาง เป็นวารสารที่มีจุดเน้นของลักษณะบทความต่างกัน บางฉบับเน้นบทความที่เป็นการวิเคราะห์เชิงทฤษฎีและการศึกษาเชิงประจักษ์ทางการศึกษา ประเภทที่สอง เป็นวารสารแนวปริทัศน์ (review) วารสารนี้เน้นการพิมพ์บทความแนวบูรณาการ หรือการสังเคราะห์งานวิจัยหรือแนวคิดทฤษฎี ตลอดจนการพัฒนากรอบความคิดในสาขาวิชาต่างๆ ตามจุดเน้นของวารสาร ประเภทที่สาม เป็นวารสารรายเดือน หรือพิมพ์มากกว่า 6 ฉบับต่อปี รับเฉพาะบทความวิชาการขนาดสั้นที่เป็นความคิดเห็น แนวคิด วิสัยทัศน์ การวิเคราะห์ อภิปราย อันจะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ทางวิชาการ เมื่อพิจารณาโดยรวม บทความวิจัยโดยทั่วไปประกอบด้วยส่วนสำคัญ 6 ส่วน ดังนี้

1.บทคัดย่อ (Abstract) เป็นส่วนที่เสนอวัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีการวิจัย และผลการวิจัย โดยสรุป เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งฉบับ ประกอบด้วยข้อความที่เป็นคำสำคัญทั้งหมด มีความกะทัดรัด และสั้น

2.ส่วนนำ (Introduction) ประกอบด้วยสาระ 4 ส่วนย่อย ส่วนที่หนึ่ง เป็นการบรรยายให้เห็นพัฒนาการของผลงานวิจัยก่อนหน้านี้ และนำเข้าสู่ปัญหาวิจัย ส่วนที่สอง กล่าวถึงปัญหาวิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัย ส่วนที่สาม เป็นการรายงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในส่วนทฤษฎี และงานวิจัยสำคัญที่นำไปสู่การสร้างกรอบความคิด รวมทั้งสมมติฐานการวิจัย ส่วนที่สี่ เป็นการรายงานเหตุผลพร้อมเอกสารอ้างอิงในการเลือกวิธีดำเนินการวิจัยที่ใช้ในบทความนี้

3.วิธีการ (Methods) เสนอสาระของวิธีดำเนินการวิจัย ประกอบด้วยลักษณะของประชากร กลุ่มตัวอย่าง และการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง การนิยามตัวแปร เครื่องมือวิจัยและคุณภาพเครื่องมือ วิธีการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการวิจัยที่ใช้

4.ผลการวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis Results) เสนอเนื้อหาที่เป็นการบรรยายแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล และตามด้วยผลการวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลความหมาย สำหรับผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในรูปตารางหรือรูป ต้องมีการบรรยายสาระประกอบด้วย มิใช่เสนอแต่ตารางหรือรูปโดยไม่มีการบรรยาย

5.การอภิปรายและสรุปผล (Discussion/Conclusion) เสนอข้อค้นพบโดยสรุป อธิบายข้อค้นพบที่ขัดแย้งหรือสอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัยโดยมีเหตุผลประกอบ มีการอภิปรายถึงข้อบกพร่อง ข้อจำกัด ข้อดี ของการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติหรือวิจัยต่อไป

6.ส่วนอ้างอิงและภาคผนวก (References/Appendix) ประกอบด้วยบรรณานุกรม เชิงอรรถ บันทึกหรือหมายเหตุของผู้วิจัย ส่วนผนวกเป็นส่วนที่ผู้วิจัยต้องการเสนอสาระให้ผู้อ่านได้รับรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เสนอในบทความ


แหล่งอ้างอิง

ฝ่ายวิชาการบิสคิต.ฟัง คิด อ่าน เขียน สำนักพิมพ์บิสคิต,2548

นงลักษณ์ วิรัชชัย.การเขียนบทความวิจัย.เอกสารประกอบการบรรยายในโครงการ "เที่ยงวันวิชาการ" ณ ครุศาสตร์,2541


ดัวยความปราถนาดี
ครู พี/

1 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้ดีมากเลยครับ ผมขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อนะครับ

    ตอบลบ