ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คำถาม vs การคิด และคณิตศาสตร์





พัฒนาทักษะกระบวนการคิดด้วยการใช้คำถาม




การใช้คำถามเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของครูคณิตฯ ที่มักใช้อยู่เสมอในการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนใช้ความคิดทั้งในด้านการสังเกต เหตุผล การเชื่อมโยง การคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา โดยเฉพาะการสอนคณิตศาสต์ในระดับมัธยมศึกษาซึ่งผู้เรียนมีพัฒนาการทางสติปัญญาอยู่ในระดับที่สามารถใช้เหตุผลเชิงนามธรรมได้มากขึ้นแล้ว การเรียนรู้คณิตศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งความคิดนั้นจะเน้นการเรียนแบบค้นพบ การใช้คำถามจึงเป็นสื่อที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะให้ผู้เรียนได้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว คำถามที่ใช้ควรเป็นคำถามที่มีประสิทธิภาพ ใช้สนองความต้องการเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ เกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา และเกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตฯได้แท้จริง ซึ่งมักพบว่าครูผู้สอนมักใช้คำถามไม่เป็น หรือใช้เฉพาะคำถามที่ผู้ตอบต้องใช้ความรู้ ความจำ เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก จำเป็นที่ผู้สอนจะต้องพยายามฝึกทักษะในการใช้คำถามให้มีประสิทธิภาพ ทักษะการใช้คำถามมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้คณิตศาสตร์

ประโยชน์ของการใช้คำถาม
ประโยชน์ของการใช้คำถาม อาจจำแนกออกเป็นข้อ ๆ ได้ดีงนี้
1. ใช้เป็นสื่อสำหรับสำรวจและทบทวนพื้นความรู้เดิมและประสบการณ์เดิมของนักเรียน คำตอบของนักเรียนจะเป็นสื่อนำไปสู่การเรียนการสอนบทเรียนใหม่และประสบการณ์ใหม่
2. ใช้กระตุ้นความสนใจของนักเรียน ครูอาจใช้คำถามเพื่อเร้าความสนใจของนักเรียนได้ทุกขั้นตอนในการเรียนการสอน เช่น การใช้คำถามเพื่อเริ่มต้นบทเรียน ถามให้นักเรียนสังเกต ให้ยกตัวอย่าง ใช้เป็นสิ่งเชื่อมโยงหรือเริ่มต้นการสนทนาระหว่างครูกับนักเรียน เพราะนักเรียนจะตอบคำถามของครูได้หากสนใจเรียนตลอดเวลา
3. ใช้เสริมสร้างความสามารถทางความคิดให้แก่นักเรียน ช่วยให้นักเรียนฝึกคิดหาคำตอบ หาเหตุผล และหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
4. คำถามที่ดีจะช่วยให้มีการอภิปรายต่อเนื่อง เป็นการขยายความคิดและแนวทางในการเรียนรู้และข้อสรุปหลักเกณฑ์ใหม่ ๆ
5. การใช้คำถาม ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เช่น ทำให้นักเรียนมีโอกาสตอบคำถาม เสนอความคิดเห็นและตั้งคำถาม รวมทั้งได้ร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย
6. ช่วยให้นักเรียนพยายามค้นคว้าหาความรู้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อที่จะนำมาตอบคำถามของครู
7. ใช้ช่วยทบทวนหรือสรุปบทเรียนให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน
8. ใช้ช่วยประเมินผลการเรียนของนักเรียนและการสอนของครู

การแบ่งระดับของคำถาม คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2534 : 74-78) ได้เสนอแนวคิดในการใช้คำถามสำหรับเด็กปฐมวัยว่า คำถามเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เพราะคำถามจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เด็กเกิดการคิด และสนใจต่อสื่อและสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว คำถามแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ คำถามระดับต่ำ และคำถามระดับสูง

คำถามระดับต่ำ เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งได้จากความจำและการสังเกต คำถามประเภทนี้มักมีคำตอบเดียว คำถามระดับต่ำแบ่งได้เป็น 6 ชนิดคือ

1. คำถามให้สังเกต
เป็นคำถามที่ต้องการใช้ประสาทสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วน รวบรวมข้อมูลในการตอบคำถาม แต่ผู้ตอบต้องไม่เพิ่มความรู้เดิม หรือความคิดเห็นส่วนตัวลงไป
- เด็ก ๆ เห็นอะไรในภาพนี้บ้าง (ตา)
- มะละกอที่เด็ก ๆ ชิมมีรสเป็นอย่างไร (ลิ้น)
- เด็ก ๆ ลองเอามือเคาะโต๊ะ แล้วฟังซิว่ามีเสียงอย่างไร (หู)
- ดอกไม้ที่เด็ก ๆ ถืออยู่มีกลิ่นหรือไม่ (จมูก)
- ลองจับดูซิ ผิวของน้อยหน่าเป็นอย่างไร (ผิวกาย)

2. คำถามให้ทบทวนความจำ
เป็นคำถามที่ผู้ตอบสามารถนำความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาตอบคำถาม
- เด็ก ๆ ทราบไหม นกกินอะไรเป็นอาหาร
- ลองนึกดูซิ ไก่ที่เด็ก ๆ เคยเห็นมีลักษณะอย่างไร
- รุ้งกินน้ำมีกี่สี
- สัตว์ปีกออกลูกเป็นอะไรก่อน

3. คำถามให้บอกความหมายหรือคำจำกัดความ
เป็นคำถามที่ใช้ตรวจสอบประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องคำศัพท์และความหมายของคำ ก่อนการจัดประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียน
- รังนกหมายถึงอะไร
- บ้านของนักเรียนอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร
- ข้าวเปลือกหมายถึงข้าวลักษณะอย่างไร

4. คำถามชี้บ่ง
เป็นคำถามที่กำหนดข้อมูลไว้หลายอย่าง แล้วให้เลือกข้อมูลอย่างหนึ่งที่เด็กต้องการนำมาเป็นคำตอบ
- ตัวหนอน หญ้าแห้ง น้ำหวานจากดอกไม้ สิ่งใดคือ อาหารของนก
- มะม่วง สัม และน้อยหน่า ผลไม้ชนิดใดที่มีเมล็ดภายในผลเพียงเมล็ดเดียว
- ระหว่างวัว ช้าง และม้า สัตว์ชนิดใดวิ่งเร็วที่สุด
- ปลาดุก ปลานิล และปลาทอง ปลาชนิดใดที่เลี้ยงไว้ดูเล่น

5. คำถามถามนำ
เป็นคำถามที่ใช้เน้นเรื่องที่ครูพูด และดึงความสนใจของเด็ก คำถามประเภทนี้มักนำไปสู่คำตอบ ใช่ จริง ถูก เป็นส่วนใหญ่
- แก้วเป็นเด็กที่เลี้ยงนก ใช่หรือไม่
- ต้นไม้ในภาพมีขนาดใหญ่ใช่ไหม
- เด็ก ๆ คิดว่าการยิงนกเป็นสิ่งดีหรือไม่

6. คำถามเร้าความสนใจ
เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบอย่างจริงจัง แต่ใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมในชั้นเรียนให้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้
- เด็ก ๆ คอยดูซิว่า เพื่อนจะทำท่าอะไรต่อไป
- เด็ก ๆ ลองคิดดูซิว่า ในกล่องนี้มีอะไรอยู่

คำถามระดับต่ำทั้ง 6 ชนิดดังกล่าว ยังมีความจำเป็นในห้องเรียนอยู่มิใช่น้อย ทั้งนี้เพราะครูอาจเลือกใช้คำถามเพื่อทบทวนความจำ ใช้เชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์เดิมไปสู่ประสบการณ์ใหม่ และเพื่อควบคุมกิจกรรมในห้องเรียนให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการ

คำถามระดับสูง เป็นคำถามที่ส่งเสริมให้ผู้ตอบใช้ความคิด นำความรู้และประสบการณ์เดิมมาเป็นพื้นฐานสรุปหาคำตอบ ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์และเกิดทักษะในการคิดอย่างมีระบบ นอกจากนั้นยังเป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบได้แสดงความคิดเห็น ตลอดจนกระตุ้นให้ได้ลองแก้ปัญหาด้วยตนเอง คำถามระดับสูงแบ่งได้เป็น 7 ชนิดคือ

1. คำถามให้อธิบาย
เป็นคำถามที่ผู้ตอบจะต้องนำความรู้ และประสบการณ์เดิมมาเป็นพื้นฐานสรุปหาคำตอบ
- ถ้าเด็ก ๆ อยากทราบว่า มดที่เลี้ยงไว้ชอบอาหารประเภทใดมากที่สุด เด็ก ๆ จะทำอย่างไร
- ทำไมเด็ก ๆ จึงบอกว่า มดชอบกินน้ำหวาน ลองเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังซิ
- ทำไมเด็ก ๆ เหล่านี้จึงไม่สวมเสื้อในฤดูหนาว
- ทำไมมดแต่ละรังต้องมีนางพญามด

2. คำถามให้เปรียบเทียบ
เป็นคำถามที่มีจุดมุ่งหมายให้เด็กใช้ความคิดเปรียบเทียบของสองสิ่งว่า มีคุณสมบัติหรือลักษณะคล้ายกันหรือต่างกันอย่างไร คุณสมบัติที่นำมาเปรียบเทียบนั้นได้แก่ รูปร่าง ลักษณะ สี ขนาด น้ำหนัก จำนวน ปริมาตร ความสูง ความยาว ความหนา รสชาติ กลิ่น ฯลฯ
- เสือกับแมวมีอะไรต่างกันบ้าง
- เสือกับแมวมีอะไรที่คล้ายกัน
- ถ้าเราต้องช่วยกันจัดผลไม้เหล่านี้ใส่กระจาด 2 ใบ เด็ก ๆ จะจัดแบ่งอย่างไร ลองคิดและเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง

3. คำถามให้จำแนกประเภท
เป็นคำถามเพื่อส่งเสริมให้เด็กรู้จักจัดกลุ่ม จัดหมวดหมู่โดยใช้เกณฑ์ของตนเองหรือของผู้อื่น หรือบอกเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดกลุ่มที่ผู้อื่นทำไว้ เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดกลุ่มนี้อาจได้แก่ สี ขนาด รูปร่าง ประโยชน์ หรือวัสดุที่ใช้ หากเป็นภาพของสิ่งมีชีวิตอาจแบ่งตามอาหาร ที่อยู่อาศัย ลักษณะเช่น สัตว์ 2 เท้า สัตว์ 4 เท้า และประโยชน์ เช่น สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน เป็นต้น
- ครูแบ่งมดออกเป็น 2 พวกอย่างที่เห็น เด็ก ๆ บอกได้ไหมว่าทำไมครูจึงแบ่งเช่นนี้
- ลองคิดดูซิว่า เราจะแบ่งภาพสัตว์เหล่านี้เป็น 2 กลุ่มได้อย่างไรดี

4. คำถามให้ยกตัวอย่าง
เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้ตอบบอกชื่อ หรือยกตัวอย่างของสิ่งที่กำหนดให้ โดยอาศัยทักษะการสังเกต และมีความรู้ความจำเรื่องต่าง ๆ เป็นพื้นฐานในการหาคำตอบ
- ให้นักเรียนยกตัวอย่างผักที่ใช้เป็นอาหารคนละ 1 ชื่อ
- ให้บอกชื่อสิ่งของที่บรรจุอยู่ในกระป๋องมาคนละ 1 ชื่อ
- บอกชื่อผลไม้ที่มีรสหวานคนละ 1 ชนิด
- มีสัตว์ชนิดใดบ้างที่เลี้ยงไว้ใช้งาน

5. คำถามให้วิเคราะห์
เป็นคำถามที่ให้คิดค้นหาความจริงหรือแยกแยะเรื่องราวเพื่อหาสาเหตุและผลต่าง ๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้น หรือให้นักเรียนได้คิดค้นหาความจริงต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์
- แมวมีประโยชน์อย่างไร
- แมวให้โทษอย่างไร
- ถ้าจะเลี้ยงแมว เด็ก ๆ จะต้องเตรียมอะไรบ้าง
- ทำไมผ้าจึงแห้งได้
- จงช่วยกันบอกชื่อส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้

6. คำถามให้สังเคราะห์
สังเคราะห์ หมายถึง การผสมรวมสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปให้เกิดเป็นของใหม่ขึ้นมาเช่น การปรุงอาหาร การพูด การเขียนให้เป็นข้อความหรือเรื่องราวที่เป็นแนวคิดใหม่ หรือพัฒนาของเก่าให้ดีขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
คำถามให้สังเคราะห์ เป็นคำถามที่มีจุดมุ่งหมายให้เด็กใช้กระบวนการคิด เพื่อสรุปความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลย่อยขึ้นเป็นหลักการ
- อะไรเอ่ย นกมีหู หนูมีปีก บินหลบหลีกอยู่กลางคืน
- ถ้าไม่อยากให้ฟันผุ เด็ก ๆ คิดว่าควรทำอย่างไร
- ถ้ามดง่ามตัวโตเท่าช้างจะเป็นอย่างไร
- ถ้าคนบินได้อะไรจะเกิดขึ้น
- ถ้าสัตว์ต่าง ๆในโลกนี้พูดภาษาคนได้อะไรจะเกิดขึ้น (เป็นคำถามที่มุ่งให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คือ คิดในแนวทางที่แปลกและแตกต่างไปจากเดิมเกิดเป็นแนวคิดใหม่)

7. คำถามให้ประเมินค่า
เป็นคำถามที่มีจุดมุ่งหมายให้ได้พิจารณาคุณค่าของสิ่งของก่อนตัดสินใจอย่างมีเหตุผล รู้จักประเมินค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยใช้กฏเกณฑ์ที่เป็นจริง และเป็นที่ยอมรับของสังคมแล้ว มาสนับสนุนความคิดเห็นของตนก่อนตัดสินใจ
- อาหารจานนี้หนูควรรับประทานหรือไม่ เพราะเหตุใด
- เด็ก ๆ ควรเอาอย่างเด็กในภาพหรือไม่ เพราะเหตุใด (ครูให้ดูภาพเด็กกำลังยิงนก
ครูต้องการให้เด็กประเมินการกระทำของเด็กคนนั้นในภาพพร้อมทั้งบอกเหตุผล)

เทคนิคและหลักการในการใช้คำถามเพื่อพัฒนากระบวนการคิด การคิดเป็นกิจกรรมด้านสติปัญญาซึ่งช่วยมนุษย์ในการแก้ปัญหา ตัดสินใจ และเข้าใจความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หากสังเกตการคิดของมนุษย์แล้วพบว่าในขณะที่กำลังคิดสิ่งต่าง ๆ อยู่นั้น เรามักจะตระหนักหรือรู้ตัว แต่อย่างไรก็ตามการคิดก็สามารถดำเนินไปในขณะที่เราไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังพบอีกว่า การคิดเป็นกิจกรรมส่วนบุคคลและของแต่ละคน แต่การคิดที่ดีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพัง เราต้องการเพื่อนหรือกลุ่มมาช่วยคิด เราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยว และจมอยู่ในโลกของความคิดของตนเองได้ตลอดเวลา การคิดเกิดขึ้นในบริบทของสังคม และได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในสังคมที่บุคคลนั้น ๆ อาศัยอยู่ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะคิดจึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว เด็กเรียนรู้ที่จะคิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตนเอง (นภเนตร ธรรมบวร 2544 : 7) คำถามเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการส่งเสริมกระบวนการคิดและการพัฒนาความคิดขั้นสูง หลักการในการใช้คำถามเพื่อส่งเสริมกระบวนการคิด มีดังนี้
1. ในการถามคำถามเด็ก ครูควรให้เวลาแก่เด็กในการคิดและแสดงออกซึ่งความคิดของตน ครูไม่ควรเร่งเด็กให้ตอบคำถามมากเกินไป หรือเป็นผู้ตอบคำถามเอง ถ้าครูให้เวลาแก่เด็กในการคิดหาคำตอบโดยใช้เวลาในการรอคอยคำตอบให้ยาวนานขึ้น จำนวนของเด็กที่จะตอบคำถามก็จะมีมากขึ้น ความล้มเหลวในการตอบคำถามจะลดน้อยลง การพูดคุย อภิปราย และสรุปองค์ความรู้ของเด็กจะมีเพิ่มมากขึ้น รวมตลอดจนจำนวนของคำถามที่เด็กถามก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
2. คำถามที่ครูใช้ควรเป็นคำถามปลายเปิดซึ่งส่งเสริมการคิดแก้ปัญหา การเปรียบเทียบและทางเลือก คำถามที่ส่งเสริมให้เด็กคิดแก้ปัญหานั้นจะต้องมีคำตอบที่ถูกอย่างหลากหลาย ไม่ใช่มีเพียงคำตอบเดียว ทั้งนี้เพื่อให้เด็กมีความคิดที่เปิดกว้าง สามารถคิดได้หลายทาง
3. คำถามที่ครูถามควรเป็นคำถามที่ช่วยให้เด็กเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมของตนกับการเรียนรู้ในปัจจุบันได้
4. ครูควรกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้ตั้งคำถามด้วยตนเอง ซึ่งครูอาจช่วยกระตุ้นเด็กให้ถามคำถามโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- เปิดโอกาสให้เด็กถามคำถาม และตั้งใจฟังคำถามของเด็ก
- ถ้าคำถามที่เด็กถามไม่ชัดเจน ครูควรให้เด็กถามคำถามซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะช่วยให้ครูและเด็กเข้าใจคำถามมากขึ้น
- ส่งเสริมให้เด็กตอบคำถามด้วยตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การถามคำถามต่อไป เนื่องจากทุกครั้งที่เด็กหาคำตอบได้ด้วยตนเอง เด็กจะพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง รวมตลอดถึงทัศนคติในทางบวกต่อตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะถามคำถามต่าง ๆ ด้วยตนเองต่อไป
5. ครูควรใช้คำถามของเด็กในการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่าการใช้คำถามเป็นสื่อที่ผู้สอนมักใช้อยู่เสมอในการเรียนการสอน คำถามที่ใช้ควรเป็นคำถามทางคณิตศาสตร์ คำถามมี 2 ระดับคือ คำถามระดับต่ำ และคำถามระดับสูง ซึ่งคำถามระดับต่ำเป็นคำถามที่ให้สังเกต ทบทวนความจำ บอกความหมาย ชี้บ่ง ถามนำ เร้าความสนใจ ส่วนคำถามระดับสูงเป็นคำถามที่ให้อธิบาย เปรียบเทียบ จำแนกประเภท ยกตัวอย่าง วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า ก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครูควรเตรียมคำถามที่ดีให้พร้อมเพื่อให้ผลของการดำเนินการเป็นไปตามประสงค์ที่ตั้งไว้



ด้วยความปราถนาดี
ครูพี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น