ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปัญญา การศึกษา ในทรรศนะของพระเจ้า




ครูพีประทับใจต่อความลุ่มลึกที่มีต่อ ปัญญา การศึกษา ในทรรศนะของพระเจ้า จากหนังสือดังแห่งยุคสมัย คือ "สนทนากับพระเจ้า" ซึ่งผู้ประพันธ์คือ นีล โดนัลด์ วอลช์ จึงอยากเก็บสิ่งดี ๆ นี้ไว้ในบล็อกส่วนตัวไว้เป็นการเตือนตน เตือนใจ เพื่อการตระหนักรู้ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาตนหนึ่ง และแบ่งบันกับผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนเผื่อสร้างแรงดลใจอะไรได้บ้าง

ในหนังสือ “สนทนากับพระเจ้า เล่ม2" นีล ผู้เล่าเรื่องได้โต้ตอบกับพระเจ้าถึงปัญหาต่าง ๆ และทางออกของโลก ซึ่งพูดถึงการศึกษาที่น่าสนใจ ดังที่ตัวอย่างบางตอนที่นำมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้ (ตัวเข้มเป็นตัวผู้เล่าเรื่อง(ผู้แต่ง) ตัวจางเป็นพระเจ้า)


การศึกษาไม่เกี่ยวกับความรู้ แต่เกี่ยวกับปัญญา ปัญญาคือการนำความรู้มาประยุกต์ใช้

แต่ถ้าไม่มีความรู้แล้วจะมีปัญญาได้ยังไง
เห็นด้วย ฉันถึงบอกไงว่าเธอไม่สามารถทิ้งความรู้เพื่อคว้าปัญญาได้ ความรู้จำนวนหนึ่งต้องถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่น แต่ขอให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งน้อยยิ่งดี

ให้เด็กได้ค้นพบด้วยตัวเอง จงรู้ไว้ว่า ความรู้นั้นสูญสลายได้ ทว่าปัญญาจะไม่มีวันลบเลือน

โรงเรียนจึงควรสอนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้?
ระบบโรงเรียนของพวกเธอควรเปลี่ยนจุดเน้นเสียใหม่ ตอนนี้โรงเรียนให้ความสำคัญเหลือเกินกับตัวความรู้ ใส่ใจปัญญาน้อยมาก…

เพื่อจะปกป้องวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเอง พวกเธอจึงสร้างระบบการศึกษาที่ยืนอยู่บนการพัฒนาความจำของเด็ก ๆ (ไม่ใช่ความสามารถนะ)เยาวชนถูกสอนให้จดจำข้อเท็จจริงและเรื่องปั้นแต่ง ซึ่งแต่ละสังคมแต้มเสริมขึ้นมาอธิบายตัวเอง แทนที่จะสอนให้มีทักษะในการค้นพบและสร้างความจริงของพวกเขาขึ้นมาเอง

หลักสูตรไหนที่เรียกร้องให้เด็กพัฒนาความสามารถและทักษะแทนที่จะเป็นความจำ จะถูกเย้ยหยันเต็ม ๆ จากผู้ที่จินตนาการว่าตัวเองรู้ดีว่าเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ทว่าสิ่งที่พวกเธอพร่ำสอนเยาวชนมาตลอดช่วงที่ผ่านมาได้นำโลกเข้าสู่อวิชชา ไม่ใช่ถอยห่างออกมา



โรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องปั้นแต่ง เขาสอนข้อเท็จจริงต่างหาก


เธอกำลังโกหกตัวเอง ไม่ต่างอะไรกันเลยกับที่โกหกเด็ก



เราโกหกเด็ก?



ยกตัวอย่างให้ดูเอาไหม

เชิญเลยครับ


ในสหรัฐอเมริกา เธอไม่ได้บอกความจริงครบถ้วนแก่เยาวชนเรื่องการตัวสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองทั้งสองของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายหรือพิกลพิการนับแสน แต่เธอกลัวให้ข้อเท็จจริงแก่เยาวชนอย่างที่เธอรู้...และอย่างที่เธออยากให้พวกเขารู้

เมื่อมีความพยายามจะให้มุมมองจากอีกฟาก ซึ่งในที่นี้ก็คือชาวญี่ปุ่น เพื่อมาคานกับมุมมองนั้น พวกเธอถึงกับแผดร้อง โวยวาย คลั่ง เดือดพล่าน เนื้อเต้นเป็นเจ้าเข้า และเรียกร้องให้โรงเรียนต่าง ๆ อย่าได้คิดริอ่านให้ข้อมูลนั้น เพื่อประกอบการทบทวนประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่สำคัญขนาดนี้ ทำอย่างนี้ไม่ถือว่าเธอได้สอนประวัติศาสตร์หรอกนะ แต่กำลังสอนการเมืองมากว่า

ประวัติศาสตร์ควรเป็นการบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงให้ถูกต้องและครบถ้วน การเมืองจะไม่มีวันบอกสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรอก แต่จะบอกมุมมองของใครบางคนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแทน

ประวัติศาสตร์จะเผยแสดง ขณะที่การเมืองจะอ้างความชอบธรรม ประวัติศาสตร์จะคลี่ออกบอกทุกด้าน ทว่าการเมือวจะปกปิดและเลือกบอกแต่มุมเดียว

นักการเมืองจะเกลียดประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกอย่างเที่ยงตรง เพราะประวัติศาสตร์เช่นนั้นจะพูดถึงนักการเมืองในแง่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

...เด็กที่ถูกสอนให้คิดแบบวิพากษ์จะมองไปยังประวัติศาสตร์ของพวกเธอและบอกว่า “โถ พ่อแม่และพวกผู้ใหญ่ทั้งหลายนี่ช่างหลอกตัวเอง” เธอทนอะไรแบบนี้ไม่ได้หรอก ถึงได้กันไม่ให้พวกเขารู้ ไม่อยากให้เด็กรับรู้ข้อเท็จจริงพื้นฐานที่สุด อยากให้รับข้อเท็จจริงจากฝั่งเธออย่างเดียว



โปรดอย่าทำเป็นอยู่ตรงนั้นแล้วมาปุบปับบอกพวกเราให้มองตัวเองว่าเป็นคน “ผิด” กับสิ่งที่เราทำให้ฮิโรชิมาและนางาซากิ เราเป็นคนทำให้สงครามสิ้นสุดนะครับ ให้ตายเหอะ เราช่วยให้คนอีกเป็นหมื่นเป็นพันไม่ต้องตายลงไป ทั้งสองฝั่งนั่นละ มันเป็นราคาของสงครามที่ต้องจ่าย ไม่มีใครอยากตัดสินอะไรแบบนั้นหรอก แต่มันจำเป็น



เข้าใจ


ใช่สิ เข้าใจ ท่านก็ไม่ต่างอะไรจากพวกคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าที่เหลือนั่นหรอก ท่านต้องการให้เราเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ใช่มั้ย ต้องการลบพวกเราทิ้งไป แล้วพวกหัวก้าวหน้าอย่างพวกท่านจะได้ขึ้นมาผงาดในที่สุด ยึดครองโลก สร้างสังคม อุดมการณ์ กระจายความมั่งคั่งให้เท่าเทียม มอบอำนาจให้แก่ประชาชน ห่าเหวอะไรพวกนั้นน่ะ เว้นอยู่อย่างหนึ่งว่ามันไม่ได้พาเราไหนได้เลย สิ่งจำเป็นสำหรับเราตรงนี้คือการกลับสู่อดีต สู่คุณค่าของบรรพบุรุษของพวกเรา นั่นละที่จำเป็นสำหรับพวกเรา!


จบยัง



จบแล้วครับ ผมทำอะไรลงไปเนี่ย สิ่งที่ผมพูดไปเมื่อกี้คือความพยายามถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ความกังวลความขื่นแค้นที่อยู่เบื้องหลังออกมา


ทำได้ดีเสียด้วยนะ เกือบเชื่อไปเหมือนกัน



แล้วไงต่อครับ ท่านจะบอกอะไรกับคนที่คิดอย่างนี้จริง ๆ


ขอให้ตัวอย่างเดิมต่อนะ เธอคิดจริง ๆ หรือว่ามันจำเป็นถึงขนาดต้องเอาระเบิดปรมาณูไปทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมาน่ะ นักประวัติศาตร์ชาวอเมริกันจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับรายงานหลายชิ้น จากผู้ที่อ้างว่าตนรู้ตื้นลึกหนาบางถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ว่าจักรวรรดิญี่ปุ่นได้แสดงความจำนงลับ ๆ ต่อสหรัฐอเมริกาว่าพร้อมยุติสงครามก่อนที่จะมีการทิ้งระเบิดเสียอีก ความแค้นที่เกิดจากโศกนาฏกรรมเพิร์ล ฮาร์เบอร์* มีส่วนต่อการตัดสินใจทิ้งระเบิดมากน้อยแค่ไหน และหากยอมรับว่าจำเป็นต้องทิ้งระเบิดฮิโรชิมา แล้วมีเหตุผลจำเป็นอะไรอีกที่พวกเธอต้องทิ้งระเบิดลูกที่สอง



“เด็กรุ่นใหม่จะเข้าร่วมผ่านพฤติกรรมแบบเดียวกับเธอ ถ้าเขานิยมความรุนแรงนั่นก็เพราะพวกเธอนั่นเองที่ชอบใช้ความรุนแรง ถ้าเขาเป็นพวกวัตถุนิยม นั่นก็เพราะพวกเธอนั่นละที่นิยมวัตถุ ถ้าเขามีพฤติกรรมบ้าบอคอแตก นั่นก็เพราะพวกเธอนั่นละที่ทำตัวบ้า ๆ ถ้าเขาใช้เซ็กส์เพื่อครอบงำ ไม่รับผิดชอบ และน่าละอายนั่นก็เพราะเห็นเธอทำแบบนี้เหมือนกัน ความต่างระหว่างเด็กรุ่นใหม่กับพวกเธอมีอยู่อย่างเดียวคือ พวกเขาทำแบบเปิดเผย

ผู้ใหญ่ชอบแอบซ่อนพฤติกรรมตัวเองแล้วคิดว่าเด็ก ๆ จะไม่เห็น แต่เด็กเห็นทุกอย่างนั่นละ ซ่อนเขาไม่ได้หรอก เขาเห็นความกลับกลอกของผู้ใหญ่และพยายามอย่างสิ้นหวังที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ลองแล้วไม่สำเร็จ เลยไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากจะเอาอย่างไปเลย ในแง่นี้เด็ก ๆ ไม่ได้ทำถูกหรอก แต่จะให้ทำอย่างไร ในเมื่อไม่เคยมีใครสอนต่างไปจากนั้น ไม่เคยได้รับอนุญาตให้วิเคราะห์วิพากษ์

สิ่งใดที่เธอจำ...เธอจะทำ”



“ทำไมเธอส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในระบบที่ยุยงและมุ่งเน้นแต่การแข่งขันโรงเรียนซึ่งจะให้รางวัลตอบแทนแต่ผู้ที่ “เก่งสุด” และเรียนรู้ “มากที่สุด” ระบบซึ่งมีการแบ่งระดับ “ผลงาน” ทั้งยังอดรนทนแทบไม่ได้กับการเรียนรู้ตามความพร้อมของเด็กแต่ละคน เธอจะให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องพวกนี้ว่าอย่างไร”



“จงสร้างหลักสูตรใหม่ขึ้นมาให้มีแก่นกลางอยู่ที่สามแนวคิดหลักคือ

การตระหนักรู้ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ

จงสอนแนวคิดทั้งสามนี้แก่เด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัย ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรไปจนถึงคาบสุดท้าย สร้างรูปแบบทางการศึกษาทั้งหมดบนฐานคิดนี้ ให้ทุกคำสอนแฝงสามเรื่องนี้ไว้”



“บนโลกนี้ เธอได้สร้างสังคมที่เจ้าจอห์นนี่เรียนรู้วิธีเขียนอ่านได้ตั้งแต่ก่อนจบชั้นอนุบาล ขณะเดียวกันก็ยังไม่รู้วิธีที่จะหยุดกัดพี่ชายตัวเอง สังคมที่หนูซูซี่ท่องสูตรคูณได้ปร๋อตั้งแต่เรียนไปไม่กี่ชั้นโดยอาศัยแผ่นสูตรคุณและการท่องจำขณะเดียวกันก็ยังไม่รู้ว่าไม่มีอะไรต้องกระดากอายกับร่างกายตัวเอง

ปัจจุบันระบบโรงเรียนของเธอมีไว้เพื่อให้คำตอบเป็นหลัก แต่มันจะเป็นประโยชน์กว่านี้อีกมากหากหน้าที่หลักคือการถามคำถามแทน ความซื่อสัตย์ความรับผิดชอบ หรือความเป็นธรรมหมายถึงอะไร? มีนัยสืบเนื่องอย่างไร? นอกจากนั้นแล้ว 2+2 = 4 หมายความว่าอะไร? สังคมที่วิวัฒน์ขั้นสูงจะสนับสนุนให้เด็กทุกคนค้นพบและสร้างคำตอบนั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง”




นั่นคือมุมมองของพระเจ้าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามแต่มันก็เป็นทรรศนะที่น่าสนใจไม่น้อย หากได้อ่านครบทุกส่วน และเปิดใจให้กว้างย่อมเป็นสิ่งที่ผู้มีหน้าที่ในการจักการศึกษาพึงตระหนักสำเหนียกไว้จะเป็นประโยชน์ในเชิงบริหารจัดการมิใช่น้อย ผู้อ่านหลายท่านเริ่มต้นการอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อค้นหาว่า เป็นการสนทนากับพระเจ้าจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งหลังจากอ่านหนังสือจบ ปริศนาที่อยากได้คำตอบกลับไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญเลย ดังที่อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ได้เขียนคำนิยมไว้

“ไม่ว่าGod ในหนังสือนี้ จะมีอยู่จริงหรือเป็นแค่จินตนาการของผู้เขียนก็ตาม แต่นั่นหาใช่สิ่งสำคัญแต่อย่างใดเลย เพราะGodคนนี้ ...คือกัลยาณมิตรที่ทรงภูมิปัญญาที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผู้อ่านจะได้พานพบในชีวิตนี้ กัลยาณมิตรผู้นี้กำลังมาแนะนำวิถีการใช้ชีวิตที่จะอยู่ในโลกนี้อย่างงดงามและอย่างมนุษย์ที่แท้”



สวัสดีครับ

ตรูพี/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น