ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สมมุติฐานที่มิใช่สมมุติฐาน

ในการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมในรูปสื่อการเรียนการสอนของครู อาจารย์ บุคคลากรทางการศึกษา และ/หรือ นิสิต นักศึกษา ที่อาจมีการตั้งสมมุติฐานของการวิจัยเพื่อเอื้อต่อการทดสอบด้วยข้อมูลตัวอย่าง สรุปอ้างอิงไปยังประชากร หลายท่านอาจจะเห็นการตั้งสมมุติฐานในรูปแบบดังตัวอย่างต่อไปนี้

(1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชา .....เรื่อง .....ระดับชั้น ...... มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
(2) นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชา .....เรื่อง .....ระดับชั้น ...... มีผลการเรียนเพิ่มขึ้น ( หรือมีประสิทธิผลทางการเรียนเป็น 0.5)
(3) นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชา .....เรื่อง........ระดับชั้น ...... มีความพึงพอใจ (หรือเจตคติ) ต่อการเรียนอยู่ในเกณฑ์ระดับพอใจมาก

ถ้าใช้ความหมายของสมมุติฐานว่า เป็นคำตอบที่ผู้วิจัยคาดคะเนไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุผล หรือ คือข้อความที่อยู่ในรูปของการคาดคะเนความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวหรือมากกว่าสองตัวเพื่อใช้ตอบปัญหาที่ต้องการศึกษา .... การตั้งสมมุติฐานในลักษณะตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้นอาจเป็นที่พอยอมรับได้

เรื่องนี้ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ หรือ สถิติ เพื่อการวิจัยมานาน มีความรู้สึกไม่สบายใจในการตั้งประเด็นเช่นนี้ในรูปสมมุติฐานเพราะไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สถิติอ้างอิงเพื่ออนุมานไปยังประชากรแต่อย่างไร และได้นำประเด็นนี้ไปปุจฉา/วิสัชนา กับคณาจารย์สาขาสถิติที่สอนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็มีความคิดเห็นในเชิงวิชาการเช่นกันว่า เมื่อมีการตั้งสมมุติฐานการวิจัยแล้ว ก็จะมีการปรับแปลงเป็นสมมุติฐานทางสถิติเพื่อทดสอบว่าสมมุติฐานทางการวิจัยที่ผู้วิจัยตั้งไว้นั้นเป็นจริงหรือไม่ในรูป Null hypothesis (Ho)และ Alternative hypothesis (H1 หรือ Ha) ซึ่งตั่งอยู่ในรูปสัญลักษณ์แสดงค่าพารามิเตอร์ หรือ ความสัมพันธ์ของค่าพารามิเตอร์ที่แสดงคุณลักษณะของประชากรที่ศึกษา .... ชัดเจนว่าการตั้งสมมุติฐานนั้นเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของประชากรโดยตรงเป็นเรื่องราวของการใช้สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) มิใช่สถิติเชิงพรรณา(Descriptive Statistics)...

ดังนั้นผู้วิจัยควรตระหนักถึงประเด็นสำคัญนี้ การวิจัยไม่จำเป็นต้องมีสมมุติฐาน การอภิปรายผลก็พิจารณาวัตถุประสงค์ของการวิจัยก็เพียงพอ ในประเด็นตัวอย่างข้างต้่นที่หยิบยกมาเพื่อการพิจารณานั้นในความเห็นของผู้เขียนแล้วเห็นว่ามันไม่ควรตั้งเป็นสมมุติฐาน ใส่ไว้ในวัตถุประสงค์ของการวิจัยก็เพียงพอ

ขอความโชคดีจงมีแด่ทุกท่าน/ครูpee

กฎแรงดึงดูด : ความคิดมีแรงดึงดูด : ขอ เชื่อ รับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น