วันนี้มีเวลาท่องเน็ตและได้สืนค้นข้อมูลเกี่ยวกับการนำเสนอต้นฉบับหนังสือเพื่อขายลิขสิทธิ์แก่สำนักพิมพ์ และเห็นว่าครูหรือนักศึกษาในสาขาคณิตศาสตร์ที่มีผลงานเขียนดี ๆ อาจสนใจการนำเสนอผลงานแก่สาธารณะได้ทั้งเงินและชื่อเสียง ก็ไม่เลวนะถ้าเสนอไปแล้วทางสำนักพิมพ์สนใจและตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน โดยเป็นข้อมูลจาก web http://porglon.exteen.com/ ซึ่งเห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าจะมีประโยชน์ต่อว่าที่นักเขียนงานวิชาการด้านคณิตศาสตร์ได้ จึงขออนุญาต(ถือวิสาสะ) และขอขอบคุณเจ้าของ Web เก็บสาระมาฝากหมู่เฮา ความปรากฏดังนี้
เนื่องจากหลายครั้งที่ต้องตอบคำถามของนัก(อยาก)เขียน ในเรื่องการส่งต้นฉบับมาเสนอสำนักพิมพ์ว่าต้องทำอย่างไร ทั้งทางโทรศัพท์ อีเมล และก็เอ็มเอสเอ็น ฯลฯ ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะเขียนแนวทางคร่าวๆ ขึ้นมาสักหน่อย (เอาแบบว่าไว้ตอบทีเดียวเลย – จะได้ไม่ต้องมานั่งพิมพ์ซ้ำเพราะจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน) แล้วถ้าใครสนใจก็ลองอ่านดูนะครับ
1. มีต้นฉบับ
(ข้อนี้สำคัญมากนะครับ เพราะบางคนยังไม่มีต้นฉบับเลย มีแต่โปรเจกต์ในหัว แต่ต้องการนำเสนอแล้ว อันนี้ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าคิดอะไรกันอยู่ อืม...นี่ไม่รู้จริงๆ หรือว่านักเขียนอาชีพหลายคนยังโดนปฏิเสธต้นฉบับกันอยู่เลย แล้วคุณเป็นใครล่ะครับ) ขนาดความยาวนั้นก็แล้วแต่ความเหมาะสม ลองประเมินดูนะครับ เพราะสำนักพิมพ์หลายๆ แห่งที่พิมพ์นวนิยาย มักกำหนดความยาวไว้ที่ประมาณ 80 หน้า A4 ขึ้นไป (ใช้ font cordia UPC หรือ cordia new ที่ขนาด 14 pt.) ก็หมายความว่าขนาดนี้จะประมาณ การขับรถนะครับ เพราะขับที่ความเร็ว 80 กม. ต่อ ชั่วโมง ก็จะไม่กินน้ำมัน แต่ถ้าใครอยากขับเร็วหรือขับช้ากว่ามาตรฐานนี้ก็ตามอัธยาศัย(ขึ้นอยู่กับเนื้อหาแล้วล่ะ) ส่วนใครที่มีต้นฉบับที่หนามาก(แล้วยังมั่นใจในคุณค่าของมัน) ก็ให้ยึดแนวทางของ เจ. เค โรลลิ่ง ไว้ครับ เพราะถ้าจำไม่ผิด 5 ปีแรกตอนที่เจ๊แกเอางานไปเสนอ สนพ. ต่างๆ ถูกปฏิเสธตลอดเพราะความหนาที่หนามากๆ เนื่องจากสำนักพิมพ์ต่างๆ กลัวว่าคนจะไม่อ่าน(เนื่องจากอินเทอร์เน็ตกำลังบูมใหม่ๆ ) แล้วสุดท้ายเป็นไงครับ เล่มที่เจ็ดหนาประมาณผิวเปลือกโลก นั่งอ่านกันแป๊ปเดียว
2.ต้นฉบับ ควรตรงกับแนวทางของสำนักพิมพ์
(ข้อนี้สำคัญมาก-อีกแล้วนะครับ) เพราะสำนักพิมพ์แต่ละแห่งจะมีพื้นที่ทางอยู่ในตลาดหนังสืออยู่แล้ว ว่าแนวทางของหนังสือเป็นเช่นไร เช่น หากเขียนต้นฉบับหนังสือคอมพิวเตอร์ แล้วส่งไปสำนักพิมพ์หนังสือรถยนต์(มันจะรอดไหมครับ) เขียนต้นฉบับเรื่องสั้น แต่ส่งไปสำนักพิมพ์หนังสือฮาวทู (มันจะรอดไหมครับ) แต่ว่าถ้าเกิดส่งไปแล้วมันแค่เฉียดๆ แนวทางของสำนักพิมพ์นั้นๆ ก็ลองให้ส่งไปที่อื่นๆ ดูครับ เพราะบางทีที่ไม่ผ่านการพิจารณาก็มาจากข้อนี้นะครับ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะว่า ถ้าสำนักพิมพ์ดังกล่าวยังคงพิมพ์หนังสือประเภทไหนออกมาอยู่เสมอ นั้นแหละครับแนวทางของเขา แล้วอย่าทะลึ่งไปหยิบเล่มที่กองขายลดราคาเหลือ 10 บาทมาเป็นตัวอย่างในการสร้างงานนะครับ เอ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ล่ะ (เพราะถ้ามันเวิร์กราคามันไม่มีทางถูกขนาดนั้นหรอก – เพราะไม่มีใครอยากพิมพ์หนังสือที่ขายไม่ได้ซ้ำหรอกนะ มันเจ็บปวดหัวใจไม่น้อย)
3.ส่งได้ทั้งทางอีเมลและไปรษณีย์
ทางอีเมลขอให้เป็นการแนบไฟล์ .doc หรือ .zip และอย่าทะลึ่งแปะเนื้อเรื่องลงมาในอีเมล์เลย (เพราะข้อความอาจจะมาไม่ครบถ้วน) ทางที่ดี ใส่ word แล้ว attach file มากับอีเมลจะงดงามที่สุด ส่วนทางไปรษณีย์ ก็ขอให้เป็นสำเนาต้นฉบับ(เท่านั้น) ได้โปรดกรุณาพิมพ์มาด้วยนะครับ(เพราะไม่แนะนำให้เขียนด้วยลายมือ – มันจะแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ) และที่ต้องเป็นสำเนา เพราะโดยหลักๆ แล้วสำนักพิมพ์ต่างๆ จะไม่คืนต้นฉบับให้ครับ
4.แนบจดหมายแนะนำตัว
ชื่อจริง ชื่อเล่น เป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรอยู่ เคยมีผลงานบ้างหรือเปล่า แนะนำตัวไว้ไม่เสียหายครับเพราะตอนนี้เรายังทำงานแบบมนุษย์อยู่นะครับ
5.แนบเรื่องย่อ แนวความคิด
ถ้ามีก็จะดีนะครับ(แต่ไม่มีก็ได้ – แต่บรรณาธิการคัดสรรต้นฉบับบางคนก็จะอ่านตรงนี้ในกรณีไม่มีเวลา)
6.เช็กชัวร์
ถ้ามั่นใจว่าส่งถึงโต๊ะมือบอกอแน่นอนก็ไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าใครกลัวพลาดก็อีเมลหรือโทรไปถามก็ได้ว่างานเขียนถึงมือ บ.ก. หรือยัง
7. รอ
รอคอย(อันนี้สำคัญที่สุดแล้ว) งานชิ้นไหนที่เลอเลิศมากไม่ต้องห่วงครั ว่าสำนักพิมพ์ที่ได้รับจะไม่โทรกลับ เพราะทุกแห่งล้วนแสวงหาเพชรเม็ดงามอยู่เสมอ ส่วนถ้าเงียบหายไปเลยก็ทำใจไว้ก็แล้วกัน
8.ตามต้นฉบับ
ถ้าเป็นคนที่ชอบให้อะไรชัดเจนไปเลย เมื่อครบกำหนดเวลาที่แต่ละแห่งกำหนดแล้วก็สามารถอีเมลหรือโทรไปถามได้ครับ อาจต้องฝากเรื่องไว้ชั่วคราวก่อน ถามใคร อะไร ยังไง ได้คำตอบเมื่อไหร่ แล้วต้องโทรมาถามอีกไหม ก็ว่ากันไปตามที่อยากรู้
9. ถ้าได้
ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ(อันนี้ไม่ต้องห่วงเลย เดี๋ยวก็มีคนโทรไปตามจีบ นัดแนะพบปะขอดูตัวกันเอง) แต่อย่าเพิ่งลิงโลดเกินไปนัก เพราะบางทีอาจโดนแก้งานหนักมากจนท้อ หรืออาจใช้เวลาจัดทำต้นฉบับกันนานแรมปีก็ไม่เสร็จสักที (แต่ก็คุ้มค่าที่จะรอคอยนะ)
10. ถ้ายังไม่ผ่าน
ให้เสียใจได้ครับ แต่ถ้าจะท้อก็ให้ท้อแป๊ปเดียว เพราะถ้าอยากเป็นนักเขียนจริงๆ สิ่งที่ต้องทำก็คือ กลับมาเช็กความผิดพลาดว่าเกิดอะไรขึ้น ผลงานเป็นยังไง เขียนดีหรือไม่ดี (ควรมีผู้รู้แนะนำบ้างจะดีมาก) หรือว่าส่งไปแล้วไม่ตรงกับแนวทางของสำนักพิมพ์ หรือว่าเขียนเหมือนนักเขียนคนไหนมากเกินไปหรือเปล่า(สไตล์เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง) หรือว่ามันห่วยจริงๆ ก็ลองทิ้งไว้สัก 3 เดือนแล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่ หรือถ้างานมันจะล้ำมาก(แบบ เจ.เค.โรลลิ่ง – ก็ให้ทำใจไปพลางๆ แต่อย่าท้อแล้วกัน) เพราะสิ่งที่ต้องทำต่อไปก้คือเสนอไปเรื่อยๆ อย่าหยุด เพราะสนามการเขียนที่ไม่มีการจำกัดอายุ รุ่น เพศ ชาติกำเนิดแบบนี้ มีอัตราการแข่งขันสูงมากๆ ครับ หมายความว่าอาจจะไม่ได้พิมพ์กับที่หนึ่งแต่อาจได้ไปพิมพ์กับที่อื่นแทน แต่ก็ไม่ง่ายนะครับที่จะได้พิมพ์กับที่เดิมซ้ำเสมอไป เพราะถ้างานไม่ได้มาตรฐานมันก็ไม่มีเหตุผลที่จะผ่านครับ
หมายเหตุ – ที่เขียนมาทั้งหมดก็ฟังหูไว้หูแล้วกัน ลองดูแล้วจะรู้เอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น