ในการตรวจประเมินรายงานการวิจัยเพื่อประกอบการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา และ/หรือ การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ประเมินผลงานมักจะพบข้อบกพร่องของผลงานในบทที่สองที่ว่าด้วย การทบทวนวรรณกรรม หรือ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นบทที่รวบรวมเรื่องราวของตัวแปรต้น(ตัวแปรอิสระ) และ ตัวแปรตาม(คัวแปรไม่อิสระ) ของการวิจัย มักจะพบคำศัพท์ภาษาไทยที่หลากหลายที่ใช้สำหรับคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำเดียวกัน เช่น ความคิดรวบยอด แนวคิด มโนภาพ มโนทัศน์ มโนมติ ซึ่งมาจากคำว่า Concept คำเดียวกัน กระจายปรากฏทั่วไปในบทที่ 2 ซึ่งขาดความสอดคล้อง ไร้ความเป็นเอกภาพ ทั้งนี้เพราะมีการคัดลอกคำกล่าวของผู้เขียนที่ตนเองอ้างอิง ที่เขียนต่างกรรมต่างวาระ นอกจากนี้บางครั้งการอ้างอิงผลงานในเชิงหลักการกลับคัดลอกข้อความมาจำนวนหลายหน้าซึ่งดูไม่เหมาะสมแม้นว่าจะมีการอ้างอิงก็ตาม ซึ่งอาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้อื่นได้ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าใช้เทคนิคการย่อ หรือเรียนเรียงใหม่โดยการอ้างอิงแหล่งที่มาน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า เพราะจะแก้ปัญหาทั้งสองประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นได้ จุดสำคัญคือผู้วิจัยก็จะได้ใช้ทั้งเทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์ และสังเคราะห์การเขียนได้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำคัญของการอ้างอิงได้อย่างมีมโนธรรมสำนึกเป็นอย่างดี
ผู่้วิจัยหลายท่านอาจจะสงสัยว่าในการลอกข้อความที่จะนำมาบันทึกไว้ในบทที่ 2 ของงานวิจัยตนนั้นจะทำได้มากน้อยเพียงใด
การลอก เป็นการนำเนื้อหาของผู้เขียนเดิมมาทั้งหมดโดยไม่มีการเรียบเรียง หรือการย่อใด ๆ ทั้งสิ้นแต่อาจตัดข้อความบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกได้ การลอกทำได้ 3 วิธี คือ
1. การลอกมาทั้งหมดเกิน 3 บรรทัด เป็นเนื้อหาที่ลอกมาทั้งหมดโดยไม่ตัดส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ "copy มันทั้งดุ้น" ซึ่งเป็นการลอกข้อความที่เป็นเนื้อหาปรากฏในเอกสารอื่นมาทั้งหมดเกินสามบรรทัด โดยไม่ได้ย่อหรือเรียบเรียง ทั้งนี้เพราะทำไม่ได้ เนื่องจากเมื่อเรียบเรียงหรือย่ออาจเก็บความสำคัญได้ไม่ครบถ้วน เพราะเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ หรือสถิติ กฎหมาย บทประพันธ์ เป็นต้น จึงจำต้องลอกออกมาทั้งหมด แต่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาให้ถูกต้องและจัดพิมพ์ให้ชัดเจนในหน้าพิมพ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นเนื้อหาส่วนที่ลอกมาด้วยการร่นระยะจากขอบกระดาษด้านซ้าย และขวาเข้าไปอย่างน้อย 4 ตัวอักษรหรือตามระเบียบของสถาบัน อนึ่งการลอกมาทั้งหมดต้องไม่เกินหนึ่งหน้าครึ่ง ถ้ามากกว่าต้องใช้วิธีการย่อหรือเรียบเรียงแทน
2. การลอกมาทั้งหมดไม่เกิน 3 บรรทัด ถ้าลอกข้อความมาทั้งหมดไม่เกิน 3 บรรทัดให้ใส่ข้อความที่ลอกมาไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ เปิดและปิด "........." และจัดข้อความที่ลอกมาให้อยู่ในวรรคเดียวกันกับที่ผู้วิจัยเขียนไว้ก่อนข้อความที่ลอกมา
3. การลอกมาไม่หมด การลอกข้อความที่กล่าวไปแล้วทั้งสองวิธี คือลอกเกิน 3 บรรทัด และไม่เกิน 3 บรรทัด ถ้าตัดข้อความบางตอนออกไปเพราะไม่เกี่ยวข้อง จะต้องมีจุด 3 จุด (...) ไว้ตรงส่วนที่ไม่ได้ลอกมา ทั้งส่วนหน้า กลาง หรือ ท้าย ของวรรคนั้น
ด้วยความปราถนาดี
ครู PEE/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น