ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

30 ยังแจ๋ว !!??

เมื่ออ่านจั่วหัวแล้วบางท่านอาจสงสัยตะหงิด ๆ ขึ้นมาในใจว่ามันอะไรกันวะ I.Q., E.Q. กาย/จิต ชีวิตหรือการแต่งงาน ต้องขออภัยมันไม่เกี่ยวกับสมองกับสองมือ หรือ กาย/จิต อะไรพวกนี้หรอกครับ ต้องขออภัยจริง ๆ แต่มันคิด TOPIC ที่เร้าใจไม่ได้จริง ๆ ยังกับการนำเข้าสู่บทเรียนของครูที่จนแต้มนะครับ ....ให้เด็กนับหลักเลข หน่วย ... สิบ ... ร้อย..... พัน " วันนี้ ครูจะสอนเรื่อง พันท้ายนรสิงห์" ?! อุแม่เจ้า! ... มันคนละเรื่องเดียวกันชัด ๆ ใช่ไหมครับท่านผู้ชม

คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้ ก็ยังคงทู้ซี้ วนเวียนอยู่กับเรื่องของงานวิจัยของลูกศิษย์อยู่ดี มันเกี่ยวข้องกับการตรวจประเมินงานวิจัยซึ่งอยู่ในวาระของการนำเสนอเค้าโครงที่คณะกรรมการที่ปรึกษาต้องตรวจสอบซักถามเพื่อให้ผู้จะทำการวิจัยเกิดความเข้าใจ ชัดเจนในทุกกระบวนท่าก่อนออกเผชิญกับปัญหาในสถานการณ์จริง โดยเฉพาะในบทที่ 3 ที่ว่าด้วยวิธีดำเนินการวิจัย ประเด็นปัญหาที่ต้องหยิบยกมาพูดถึงใน blog นี้ คือในช่วงของการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือในการทำวิจัยซึ่งอาจจะเป็น แบบทดสอบ แบบสอบถาม หรือแบบวัดอื่น ๆ ก็ตาม ในกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบแล้วและผู้วิจัยต้องการให้เกิดความมั่นใจในเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานจริงแน่นอน ด้วยวิธีการนำเครื่องมือนั้นไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนกับกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้เก็บข้อมูลจริง กลุ่มหนึ่ง

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีการใช้ขนาดของตัวอย่างที่แตกต่างกันหลากหลาย บางคนใช้ต่ำกว่า 30 บางคนใช้เกิน 30 มากน้อยแตกต่างกันไป แต่เมื่อถูกถามว่ามีเกณฑ์มาตรฐานอะไรจึงใช้ขนาดของตัวอย่างเป็นเท่านั้นเท่านี้ก็มีท่าทีอึกอักเหมือนสำลักความไม่รู้ ความสง่างาม มั่นอกมั่นใจหายไป...ไม่รู้จริงนี่หว่าเห็นเขาใช้ก็มั่วใช้มาใช่ไหม ? หรือเลือกใช้ตามสะดวก อย่าลืมนะ งานวิจัยเป็นงานนิพนธ์ชั้นสูง และเป็นเอกสารสาธารณะที่จะนำไปใช้อ้างอิงเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในเชิงวิชาการต่อไป ผู้ทำต้องรู้และเข้าใจในการใช้เกณฑ์ต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุดก็ควรอ้างอิงแหล่งที่มาของเกณฑ์ที่ใช้ได้อย่างมั่นใจ ทั้งในแง่ของบุคคล และหลักการที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการนั้น ๆ

ในเรื่องนี้นั้นมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อสังเกตไว้อาจแตกต่างกันบ้านแต่ก็สมานพอประมาณการได้ใกล้เคียงกัน เช่น ท่าน ดร.วิเชียร เกตุสิงห์ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ได้เขียนหนังสือ/ตำรา คู่มือทางด้านสถิติ และวิจัยทางด้านการศึกษา และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการนี้ได้ให้หลักการในเรื่องนี้ไว้ว่า " ให้มีจำนวนอย่างน้อยที่สุดสัก 30 คน แต่ถ้าหาให้ได้ถึง 100 คน ก็ยิ่งดี "

เกณฑ์ขนาดอย่างต่ำ 30 คน หรือ หน่วยนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยว่ามีความเหมาะสมเพราะโดยหลักทางสถิติแล้ว ขนาดตัวอย่างตั้งแต่ 30 ขึ้นไปนั้นจัดว่าเป็นตัวอย่างขนาดใหญ่ก็จะให้นัยการแจกแจงของข้อมูลเป็นการแจกแจงแบบปรกติอันเป็นธรรมชาติของข้อมูลที่วัดได้จากตัวแปรในธรรมชาติโดยทั่วไป

ดังนั้นผู้วิจัยควรเลือกตัวอย่างในการทดลองคุณภาพของเครื่องมือ "ไม่ต่ำกว่า 30 หน่วย" ฟันธง!



ด้วยความปราถนาดี
ครู PEE/


ข้อคิด จากคัมภีร์รากผัก

" รักษาคุณธรรม ไม่พึ่งพาอำนาจวาสนา"

คนที่สามารถรักษาคุณงามความดีไว้ได้ บางทีอาจต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดดสักระยะหนึ่ง ส่วนคนที่มุ่งหวังแต่จะแสวงหาอำนาจวาสนากลับจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอดกาล ผู้เข้าถึงสัจธรรมจะพิจารณาสิ่งใดก็ลึกซึ้งยาวไกลจนถึงชื่อเสียงที่จะปรากฏหลังความตาย ดังนั้นจึงยอมเป็นคนสันโดษสักระยะเพื่อยืนหยัดรักษาคุณงามความดี เพื่อจะไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอดกาลด้วยเหตุแห่งอำนาจวาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น