ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

CAI ... กับการบรรยายใส่แผ่น

การพัฒนานวัตกรรมในรูปบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computor Assisted Instruction) หรือเรียกติดปากกันในหมู่นักพัฒนาว่าบทเรียน CAI โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนประเภท Tutorial ซึ่งเป็นการสอนเนื้อหาใหม่ด้วยการมอบภาระให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เป็นครูสอนแทน ด้วยคุณลักษณะพิเศษของคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำเสนอสื่อผสม (Multimedia) ทั้งภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว การจำลองแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนสามารถควบคุมบทเรียนได้ด้วยตนเอง จัดระบบสิ่งเร้าและการตอบสนองได้อย่างลงตัว ฉับพลันทันความต้องการของผู้เรียน สนองตอบต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งเน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

ในการวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์ศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีนักศึกษาหลายท่านที่ได้ศึกษาวิจัยด้านพัฒนานวัตกรรม CAI เพื่อใช้ในการเรียนการสอน ส่วนใหญ่จะพัฒนา CAI โดยใช้โปรแกรม Authorware เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลของบทเรียนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเชิงวิชาการตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย (คณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์) มีข้อสังเกต ติติงบทเรียน CAI ว่า ในขั้นตอนการสอนที่มีการให้ บทนิยาม ทฤษฎีบท และตัวอย่างต่าง ๆ ประกอบนั้น ผู้เรียนแทบจะไม่มีโอกาสได้ฝึกกิจกรรมใด ๆ เลย มีหน้าที่เพียง ดูบทเรียน ฟังคำบรรยาย คลิกเลือกเนื้อหาแทบไม่มีโอกาสได้ตอบโต้ และ/หรือ ได้รับ feedback จากบทเรียนใด ๆ เลย ซึ่งผิดธรรมชาติของการเรียนการสอนตามสภาพจริงซึ่งผู้เรียนจะต้องมีโอกาส ถาม-ตอบ หรื่อ ฝึก คิด/ทำ ได้รับการชมเชย รางวัล การติติง การให้กำลังใจ ดูไปแล้วก็เสมือนกับ CAI เป็นการบรรยายใส่แผ่น CD เท่านั้นเอง จากนั้นผู้เรียนก็มาฝึกทำแบบฝึกหัด หรือ แบบทดสอบย่อย เพื่อที่ผู้วิจัยจะนำมาใช้วัดค่าประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) โดยที่ผู้เรียนก็ทราบเพียงผลของคะแนนที่ทำได้จากแบบฝึกนั้นโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผิดข้อใดและเพราะอะไร

ผู้เขียนได้แนะนำให้สอดแทรกแบบฝึกประกอบบทนิยาม ทฤษฎี เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ โดยมีการตรวจสอบความถูกผิดให้ทราบทันที มีการสอน แนะนำ ให้กำลังใจในกรณีตอบผิด หรือไม่สมบูรณ์ มีการชมเชยในกรณีตอบถูก และแบบฝึกเพื่อทดสอบความเข้าใจนั้นควรมีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย แต่เมื่อผู้วิจัยไปพัฒนาแก้ไขบทเรียนตามคำแนะนำที่ให้ไว้แล้วก็ยังปรากฏว่าแบบฝึกก็ยังคงเป็นแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เช่นอาจมีเฉพาะแบบ Multiple Choices ที่จริงแล้วแบบฝึกนั้นมีรูปแบบมากมายซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากหนังสือเรียน หรือ คู่มือ ที่ สสวท. จัดทำขึ้น การถามตอบ แบบถูกผิด แบบให้เขียนคำตอบ แบบจับคู่
แบบ multiple choices เกม ปริศนา คำทายต่าง ๆ ซึ่งผู้ทำบทเรียน CAI ควรศึกษาหลักการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เพื่อนำมาประกอบในการพัฒนาบทเรียนของตน


ด้วยความปราถนาดี
ครู PEE/.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น