ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

เลือกแบบเจาะจง...ปลงใจไม่ได้!?

ผู้เขียน blog เป็นผู้หนึ่งที่เคยมีทัศนะในเชิงลบ กับการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sample) ว่าเป็นการเลือกที่ไม่เป็นไปตามโอกาสทางสถิติ จึงมิใช่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรที่ต้องการศึกษาได้ และค่าสถิติที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างนั้นย่อมมิอาจนำไปใช้ประมาณค่าพารามิเตอร์ของประชากรเป้าหมายได้ถูกต้องและสมเหตุสมผล ดังนั้นจึงมักจะแนะนำลูกศิษย์ในที่ปรึกษาให้หลีกเลี่ยงการเลือกตัวอย่างแบบนี้
แต่อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์การตรวจประเมินผลงานทางวิชาการ การศึกษาผลการวิจัยในสถานการณ์ต่าง ๆ มักจะพบเห็นการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจงอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ๆ การเปรียบเทียบวิธีสอนต่าง ๆ หลายชิ้นงานก็เป็นงานในระดับบัณฑิตศึกษาที่มีคณะกรรมการที่ปรึกษาเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศก็ยังยอมรับการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง แล้วนำผลที่ได้ไปอ้างอิงประชากรได้อย่างกล้าหาญในเชิงวิชาการอย่างท้าทาย อันเป็นเหตุให้ผู้เขียนเอะใจขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น และงานวิจัยชิ้นนั้น ๆ มันมีอะไรเป็นพิเศษ จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้ต้องติดตามสืบค้นหลักการและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง "การเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง" มันหลงทิศ หลงทางกันหรือเปล่า หรือเป็นเพราะเราไม่รู้เอง
จากการศึกษาเจาะตรงลงไปที่ชิ้นงานดังกล่าวนั้นจะพบว่า งานวิจัยเหล่านั้นล้วนเป็นการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งอาจจะเป็นการทดลองที่มีเพียงกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลังการทดลอง หรือหลายกลุ่มโดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม การวิจัยในรูปแบบเหล่านี้ผู้วิจัยต้องควบคุม treatment ต่าง ๆ ในทุกหน่วยอย่างใกล้ชิด ละเอียดประณีต ต้องควบคุมการใช้เครื่องมือ เวลา สถานที่ ตัวแปรแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างเข้มงวด และต้องเข้าใจในพฤติกรรมของแต่ละหน่วยการทดลองอย่างชัดเจน ดังนั้นขนาดของตัวอย่าง ถ้ายิ่งโตก็ยิ่งควบคุมรายละเอียดต่าง ๆ ลำบาก ทำให้การวิจัยเชิงทดลองนั้นไม่จำเป็นต้องใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่เหมือนกับการวิจัยเชิงสำรวจ
กลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาแบบเจาะจงนี้เป็นตัวอย่างที่เลือกมาด้วยการพิจารณาตัดสินใจของผู้วิจัยเองว่า ลักษณะของกลุ่ม ประชากรที่เลือกมาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น เลือกนักเรียนในชั้นหนึ่งโดยให้มีสติปัญญาสูง ปานกลาง และต่ำมาเพื่อทดลองวิธีการสอนแบบใหม่ เป็นต้น กลวิธีการเลือกนั้นบางครั้งอาจจะเป็นการเลือกแต่เฉพาะหน่วยที่ผู้วิจัยพิจารณาเห็นว่ามีลักษณะเป็นกลาง ๆ (typical cases) ในเรื่องที่ทำวิจัยนั้น
การเลือกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงต้องอาศัยความรอบรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ ของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ทำวิจัย ดังนั้น กลุ่มตัวอย่างแบบนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Expert choice Sample หรือ Judgment Sample
การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นไปตามโอกาสทางสถิติอาศัยข้อสมมุติหรือข้อสันนิษฐานอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับการกระจายของตัวแปรหรือข้อมูลที่ต้องการในกลุ่มประชากร การเลือเก็บข้อมูลเป็นไปตามยถากรรม ไร้กฎเกณฑ์ที่แน่นอน ทั้งนี้เพราะคาดว่าลักษณะที่สำคัญของข้อมูลตามที่ต้องการศึกษานั้นอยู่กระจัดกระจายอย่างสม่ำเสมอกันในกลุ่มประชากร หรือกระจายอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ การเลือกแบบไร้กฎเกณฑ์ก็จะทำให้ได้ข้อที่มีลักษณะเป็นกรณีทั่ว ๆ ไป หรือแบบฉบับทั่วไปของประชากร การวิจัยทางวิทยาศาสตร์กายภาพ และชีวภาพมักใช้กลุ่มตัวอย่างประเภทนี้
อนึ่งการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มิได้เป็นไปตามโอกาสทางสถิติจะเลวกว่าการเลือกตัวอย่างที่เป็นไปตามโอกาสทางสถิติ แต่ทั้งสองวิธีล้วนมีคุณค่าต่อการวิจัยทั้งคู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เช่น วัตถุประสงค์ของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย กำลังคน เวลา เนื้อหา วิธีการ กำลังเงิน และแหล่งข้อมูล หากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีอยู่พร้อมแล้วก็ควรจะเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นไปตามโอกาสทางสถิติจะดีกว่า เพราะว่าจะทำให้ผู้วิจัยสามารถคำนวณค่าคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น สามารถพิจารณาด้วยความมั่นใจว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรที่ศึกษาหรือไม่ ซึ่งทำให้ผู้วิจัยสรุปลงความเห็นเกี่ยวกับประชากรได้ สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นไปตามโอกาสทางสถิตินั้นในทางปฏิบัติก็ใช้กันอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องสรุปลงความเห็นเกี่ยวกับประชากร เช่น การศึกษาเฉพาะกรณี หรือการสำรวจที่ไม่สามารถกำหนดขอบเขตของประชากรได้ นอกจากนั้นปัจจัยเกี่ยวกับเวลา กำลังเงิน รวมทั้งข้อมูลต้องการที่เป็นแรงผลักดันอันสำคัญให้ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างประเภทนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น