ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ข้อสอบอัตนัย

ข้อสอบอัตนัยเป็นข้อสอบที่ให้ผู้เรียนเขียนตอบแบบบรรยาย เพื่อวัดผลว่าผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนไปแล้วอย่างไรบ้าง ข้อสอบอัตนัยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด และทัศนคติได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ผู้เขียนต้องมีความสามารถในการรวบรวม เรียบเรียง และลำดับความคิดของตนให้เป็นระบบระเบียบ ทั้งยังต้องมีความสามารถในการเขียนถ่ายทอดความรู้ ความคิดเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง ชัดเจนด้วย การวัดผลการเรียนการเรียนในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่มักใช้ข้อสอบอัตนัย ดังนั้นการเรียนรู้ลักษณะและการตอบข้อสอบอัตนัยจึงมีความสำคัญ
ลักษณะของข้อสอบอัตนัย

ข้อ สอบอัตนัยเป็นข้อสอบที่สร้างคำถามเพียงอย่างเดียวให้ผู้ตอบอธิบายโดยเขียนคำ ตอบอย่างเสรีไม่มีขอบเขตที่แน่นอน เขียนบรรยายตามความรู้และความคิดเห็นของแต่ละคน (รัตนา ศิริพานิช , 2535 : 23) ลักษณะ ของข้อสอบอัตนัยโดยทั่วไปมักจะตั้งคำถามหรือโจทย์โดยกำหนดเป็นสถานการณ์ หรือปัญหารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเรื่องกว้าง ๆ หรือเฉพาะเจาะจงก็ได้ แล้วแต่ว่าผู้ถามต้องการให้ผู้ตอบแสดงความรู้ ความเข้าใจ หรือทัศนะในเรื่องใด อย่างไร จำนวนข้อสอบมักจะมีจำนวนข้อไม่มาก แต่ละข้ออาจแยกถามประเด็นย่อย ๆ เป็นข้อ ๆ อย่างชัดเจน หรือเป็นการสร้างสถานการณ์ที่กล่าวถึงเรื่องนั้นโดยรวม ผู้ตอบต้องวิเคราะห์ประเด็นคำถามเอาเอง ลักษณะของคำถามที่ถามมีหลายแบบ การตอบจึงต้องศึกษาคำถามแต่ละแบบให้เข้าใจเพื่อจะได้ตอบตรงประเด็นมากที่สุด

ข้อ สอบอัตนัยโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือแบบจำกัดคำตอบ และแบบไม่จำกัดคำตอบ แบบไม่จำกัดคำตอบนั้นผู้ตอบสามารถแสดงความคิด ความเห็นได้อย่างอิสระ ส่วนแบบจำกัดคำตอบนั้น คำถามที่ใช้จะเป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจงและต้องการคำตอบเฉพาะเรื่อง ผู้ตอบต้องอ่านคำถามให้ดีว่าต้องการให้ตอบในเรื่องใด เนื้อหามีขอบเขตเพียงใด



นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งลักษณะของข้อสอบอัตนัยได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ (นวลทิพย์ เพิ่มเกษร และ คำยวง ศรีธวัช , 2538)

1. ข้อสอบที่มุ่งให้อธิบาย
2. ข้อสอบที่มุ่งให้แสดงความคิดเห็น
3. ข้อสอบที่มุ่งให้อภิปราย

1. ข้อสอบที่มุ่งให้อธิบาย
มุ่งให้อธิบายวิธีการหรือความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ลักษณะคำถามของข้อสอบที่มุ่งให้อธิบายมี 3 ชนิด คือ

ก. ให้คำจำกัดความ
ข. ให้รายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง
ค. ให้เปรียบเทียบ

แนวการตอบข้อสอบที่มุ่งให้อธิบายแบบต่าง ๆ

ก. การให้คำจำกัดความ
ข. การยกตัวอย่าง
ค. การเปรียบเทียบ
ง. การแสดงเหตุผล
จ. การอธิบายตามลำดับขั้น

2. ข้อสอบที่มุ่งให้แสดงความคิดเห็น
มุ่ง ให้ผู้ตอบใช้เหตุผลและหลักฐานอ้างอิงประกอบเพื่อให้การแสดงความคิดเห็นน่า เชื่อถือ การตอบข้อสอบประเภทนี้ผู้ตอบต้องอ่านคำถามให้เข้าใจและจับประเด็นให้ได้ว่า จะต้องเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องอะไร ผู้ตอบต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องที่ตอบอย่างแจ่มแจ้ง และรู้จักเลือกใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำมาใช้อย่างถูกต้อง การแสดงความคิดที่ดีควรมีการให้เหตุผลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ศึกษามาหรือ ข้อมูลจากประสบการณ์ การแสดงเหตุผลจะน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นหากมีการอ้างอิงหลักฐานทั้งทางตรงและทาง อ้อม หลักฐานอ้างอิงอาจปรากฏในรูปต่าง ๆ กัน เช่น ข้อเท็จจริง สถิติ ตัวเลข ตัวอย่างเหตุการณ์ เป็นต้น

3. ข้อสอบที่มุ่งให้อภิปราย
ผู้ ตอบต้องแยกแยะประเด็นของเรื่องที่จะเขียนอภิปรายให้ชัดเจน วิเคราะห์ให้ครบถ้วนทุกประเด็น ถ้าประเด็นคำถามต้องการให้อภิปรายปัญหาส่วนรวม ผู้ตอบต้องชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย สาเหตุ แนวทางในการแก้ปัญหา ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์

คำแนะนำในการตอบข้อสอบอัตนัย

* แบ่งเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อให้เหมาะสม พยายามทำข้อสอบให้ครบทุกข้อ
* เขียนด้วยลายมือที่ชัดเจน ใช้ปากกาสีเข้ม เช่น สีดำ หรือน้ำเงิน เพื่อให้อ่านง่าย ไม่ใช้ดินสอหรือปากกาสีแดง
* วิเคราะห์คำถามอย่างรอบคอบเพื่อให้เข้าใจ ตอบให้ครบทุกคำถาม
* ตอบให้ตรงประเด็น ไม่ตอบแบบย่อหรือคลุมเครือ และแสดงเหตุผลของคำตอบด้วยทุกครั้ง
* ใช้ภาษาที่ง่าย กะทัดรัด สื่อความชัดเจน และควรใช้ภาษาทางการหรือกึ่งทางการ ไม่ควรใช้ภาษาพูด
* ใช้ หลักการของย่อหน้าช่วยในการเขียน โดยแบ่งประเด็นความคิดให้ชัดเจน แล้วเขียนข้อความเพียง 1 ประเด็นในแต่ละย่อหน้า อย่าเขียนติดกันเป็นพืดโดยไม่มีย่อหน้า
* วางโครงเรื่องของคำตอบทุก ครั้ง เพื่อจะได้จัดระเบียบของความรู้ ความคิดที่รวบรวมให้มีลำดับขั้นตอน และเพื่อให้สามารถตอบคำถามได้อย่างครอบคลุมทุกประเด็น
* ตรวจทานเพื่อดูความบกพร่องทั้งในด้านเนื้อหาและภาษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น