ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ข้อสอบปรนัยทำให้ผลการเรียนคณิตฯตกต่ำ

ประธานวิชาคณิตศาสตร์ สอวน. ระบุชัดข้อสอบปรนัยต้นเหตุผลสัมฤทธิ์การศึกษาเด็กไทยตกต่ำ ชี้ครูไทยมุ่งสอนเพื่อไปสอบแข่งขัน มากกว่าสอนให้เด็กมีความรู้ สอบไม่ผ่านก็เลื่อนชั้นได้ เด็กจึงไม่ตั้งใจเรียน
โพสต์เมื่อ: 10:44 วันที่ 11 ธ.ค. 2551 ชมแล้ว: 3,548 ตอบแล้ว: 1
วิชาการ.คอม > ครูอาจารย์

ศ.ดร.ณรงค์ ปั้นนิ่ม อาจารย์สาขาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประธานคณะกรรมการผู้ดูแลวิชาคณิตศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์(สอวน. ) เปิดเผยว่า ข้อมูลที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)เปิดเผยว่าเด็กไทยได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าคะแนน เฉลี่ยนานาชาติ ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 2 วิชายังต่ำกว่าช่วงปี 2542 – 2546 ว่าเป็นเรื่องจริง และเป็นปัญหาที่หมักหมมอยู่ในระบบการเรียนการสอนในสังคมไทยมานานมาก สืบเนื่องมาจากครูไทยใช้ระบบข้อสอบปรนัยมาวัดผลเด็ก นอกจากการวัดผลแล้วการฝึกเด็กก็ยังใช้ข้อสอบปรนัย ซึ่งเป็นข้อสอบที่ไม่ได้พัฒนาระบบคิด การใช้เหตุผล ข้อสอบปรนัยเป็นข้อสอบที่ทำลายเด็กไทยอย่างมาก คนที่มาเรียนครูก็ถูกมอมเมาด้วยข้อสอบปรนัย มาเป็นครูก็ใช้ข้อสอบปรนัย เด็กบางคนทำข้อสอบโดยไม่ต้องอ่านคำถามใช้วิธีสุ่มเดาก็สามารถสอบผ่านได้ สังคมการศึกษาไทยบริโภคข้อสอบปรนัยมาตั้งแต่ปี 2516 ถึงตอนนี้เป็นเวลาถึง 35 ปีแล้วที่วงจรข้อสอบปรนัยได้ทำลายเด็กไทย โดยที่ครูไทยยังไม่รู้ตัว ครูทุกวันนี้ก็มุ่งสอนเพื่อหวังให้เด็กไปสอบเรียนต่อให้ได้ มีการสอนวิธีลัด สอนเทคนิค แต่เราไม่ได้สอนเพื่อให้เด็กเกิดความรู้ การสอนเพื่อให้เด็กสอบเข้าเรียนได้กับการสอนให้เด็กมีความรู้มันจึงไม่ เหมือนกัน เด็กทุกวันนี้จึงชอบไปกวดวิชาเพราะชอบเรียนลัด ชอบไปเรียนเทคนิคการทำข้อสอบ เมื่อสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยบางคนยังต้องไปกวดวิชา เราจะเห็นเด็กมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังต้องไปกวดวิชา เพราะเมื่อมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเขาปรับตัวเองไม่ได้ มาเจอข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบที่ให้คิดวิเคราะห์แล้วเขียนออกมาเด็กจึงมี ปัญหา เด็กไทยทุกเป็นเด็กที่ทำข้อสอบได้ แต่ไม่มีความรู้ เข้าสู่การทำงานก็ไร้คุณภาพทำงานไม่ได้ จะเห็นว่าผลพวงที่ใช้ข้อสอบปรนัยกับเด็กนั้นมันทำลายเด็กอย่างมาก ประเทศที่เขามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย เขาจะไม่ใช้ข้อสอบปรนัยกับเด็กของเขา
“นอก จากนี้ระบบการเรียนที่ไม่ให้มีการซ้ำชั้นนั้นก็ทำลายเด็ก เด็กจะไม่มีความตั้งใจในการเรียน บางคนได้เกรดเฉลี่ย 0 มาซ่อมก็สามารถผ่านไปได้ เท่าที่ผมทราบในเมืองไทยมีโรงเรียนจิตรลดาเพียงโรงเรียนเดียว ที่ยังมีการซ้ำชั้นหากผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ แต่โรงเรียนอื่นๆ ไม่มีการซ้ำชั้นแม้ผลการเรียนของเด็กจะไม่ผ่านก็ตาม เด็กจึงไม่มีความตั้งใจในการเรียนเพราะคิดว่าสอบไม่ผ่านก็มาซ่อมได้ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในสมัยก่อนมาก มีการซ้ำชั้นเราจึงเห็นเด็กสมัยก่อนตั้งใจกว่าเด็กปัจจุบันนี้ หลายคนอาจจะบอกว่าเด็กในปัจจุบันนี้ก็ตั้งใจและเป็นเด็กเก่งไปแข่งขันระดับ นานาชาติไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก็คว้ารางวัลต่างๆ มามากมาย ซึ่งก็น่าดีใจ น่ายินดี แต่นั่นผมอยากบอกว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มมากยังมีปัญหาเรื่องการเรียนและยังอยู่ในระดับที่แย่มาก และยังน่าเป็นห่วง และที่สสวท.ตั้งเป้าว่าจะมีแผนพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ให้เด็กไทยมีคะแนนสูงขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า คิดว่าเป็นเรื่องที่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย สสวท.เองก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการคิด การพัฒนาตำราต่างๆ และเท่าที่ผมมีโอกาสพัฒนาครูคณิตศาสตร์มาเป็นปีที่ 9 เพื่อให้ครูมีความรู้ มีทักษะ มีวิธีการในการไปสอนคณิตศาสตร์ เราพบว่าครูยังคิดกับดักการสอนแบบปรนัยซึ่งไม่อาจจะวัดผลสัมฤทธิ์ทางการ ศึกษาได้ เมื่อเด็กต้องไปวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่วัดกันด้วยความรู้ ความเข้าใจ เหตุผลเด็กไทยจึงทำไม่ได้และผลสัมฤทธิ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำเป็นเรื่องที่พอเข้าใจ ได้ว่าเพราะอะไร”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น