ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

คณิตฯในมุมมองของท่าน ว.วชิรเมธี

ท่านชอบเรียนวิชาอะไรที่สุด

วิชาที่ชอบที่สุดตั้งแต่เด็กคือวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะการเขียนเรียงความ วิชาศิลปะ และวิชาประวัติศาสตร์ วิชาที่กลัวมากคือคณิตศาสตร์ จนกระทั่งมาเรียนปริญญาตรี มีวิชาเลือกชื่อการใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ ก็ลงทะเบียนเรียนเพราะเข้าใจว่าจะได้เรียนประวัติและความคิดของนักปรัชญา แต่กลับพบว่าทั้งวิชาคือคณิตศาสตร์ เทอมแรกกับเทอมสองดร็อปเลย ไม่กล้าไปสอบเพราะในชีวิตไม่เคยสอบตก เทอมต่อมาลงทะเบียนเรียนอีก ตั้งใจว่าต้องศึกษาให้ลึกจริง ๆ แล้วสอบครั้งเดียวให้ผ่านเลย ในที่สุดก็สอบผ่าน แล้วเกิดความรู้ขึ้นมาว่าเอาเข้าจริงวิชาคณิตศาสตร์ไม่ยาก สิ่งที่ทำให้ยากคือทัศนคติเชิงลบต่อวิชานี้


อะไรที่ปลูกฝังให้เด็กไทยเกิดทัศนคติเชิงลบต่อวิชาคณิตศาสตร์

วิชานี้ถูกทำให้ยากเพราะการสอนเน้นในเชิงตำรับตำรามากเกินไป ตั้งโจทย์ให้เด็กแก้ แล้วจบแค่นั้น เด็ก ๆ แทบไม่รู้เลยว่าปรัชญาที่แท้จริงของคณิตศาสตร์คือการฝึกทักษะการใช้ความคิดเชิงเหตุผล ถ้าเรากระตุ้นให้เด็กคิด คณิตศาสตร์จะเป็นวิชาที่สนุกที่สุด เพราะเราจะท้าทายตัวเองทุกครั้งที่ฝึกแก้โจทย์ เมื่อแก้โจทย์ได้ ความสุขจะเกิดขึ้นทันที


วิชาคณิตศาสตร์มีประโยชน์ต่อชีวิตท่านอย่างไร

การเรียนคณิตศาสตร์ได้ตกผลึกกลายเป็นวิธีคิดอย่างหนึ่งของอาตมาคือ เมื่อเจอปัญหา ต้องเป็นนักแก้ปัญหา ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ คณิตศาสตร์ยังเหมือนพุทธศาสนาตรงที่เป็นความรู้บริสุทธิ์ วางอยู่บนเหตุผลที่เป็นระบบ พิสูจน์วัดสัมผัสได้ ตรงนี้ทำให้อาตมาขยายความสนใจมาถึงวิทยาศาสตร์ เพราะจับจุดได้ว่าสามศาสตร์นี้ล้วนว่าด้วยความจริงบริสุทธิ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ถ้าไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อาตมาคงไม่มีความเข้มแข็งทางเหตุผลอย่างทุกวันนี้ และคงไม่กล้ารับประกันเหมือนกันว่าจะสามารถเผยแผ่พุทธศาสนาที่เรียกว่าพุทธศาสน์บริสุทธิ์ได้หรือไม่ ไม่แน่ว่าตอนนี้อาจจะไปปลุกเสกจตุคามรามเทพสักรุ่นแล้วก็ได้


ท่านชอบความรู้ในแง่ใดของวิทยาศาสตร์บ้าง

นอกจากชอบในแง่วิธีวิทยา (Methodology) แล้ว ยังชอบประวัตินักวิทยาศาสตร์มาก ที่ชื่นชมมากเป็นพิเศษคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สนใจในแง่ไลฟ์สไตล์ของเขาว่าเป็นผู้ชายที่ใช้ชีวิตสนุกสนานรื่นรมย์ เป็นบุคคลยิ่งใหญ่ แต่ทำตัวเล็กๆ ประการสำคัญที่สุด ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจพุทธศาสนามาก ทำให้อาตมาพยายามหาคำตอบมาหลายปีว่า พุทธศาสนาที่ไอน์สไตน์สนใจ กับพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ ส่วน สตีเฟน ฮอว์คิง อาตมาสนใจในแง่ชีวิตว่า เจ็บป่วยขนาดนี้ ทำไมสติปัญญายังรุ่งโรจน์อยู่ได้ ฮอว์คิงเป็นตัวอย่างคนที่เอาธรรมะมาใช้ คือป่วยแต่กาย ใจอย่าป่วย และทั้งที่ป่วย เขายังค้นพบทฤษฎีที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตและโลกนี้อย่างกว้างขวางขึ้นต่อจากยุคของไอน์สไตน์ ถึงขนาดมีคนยกย่องว่าหลังจากยุคของไอน์สไตน์แล้ว ก็มีฮอว์คิงนี่แหละที่เข้าใจสัมพัทธภาพดีที่สุดคนหนึ่ง


เราสามารถเทียบเคียงทฤษฎีสัมพัทธภาพกับหลักธรรมในพุทธศาสนาได้หรือไม่

ทฤษฎีสัมพัทธภาพใกล้เคียงกับอนัตตาของพุทธศาสนา คือภาวะที่โลกนี้เป็นสุญญากาศหรือสุญญตา คือความว่าง “สัมพัทธภาพ” บอกว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ตรงกับคำที่ฝรั่งฮิตในตอนนี้คือ “Interbeing” ภาษาพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” คือสิ่งนี้มีเพราะสิ่งนี้ อย่างเรื่องภาวะโลกร้อน ถ้าศึกษาลึกลงไปจริง ๆ แล้วล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของสามกฎนี้ ถ้าจะแก้ปัญหาโดยนำปฏิจจสมุปบาทเข้าไปวิเคราะห์ มองตามเหตุปัจจัยก็จะเห็นว่ามนุษย์เรานี่เองคือรากฐานของปัญหา การแก้ปัญหาต้องเริ่มด้วยการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้แก่มนุษย์ว่า เราทุกคนล้วนเชื่อมโยงอยู่กับคนอื่นและสิ่งอื่นในโลก สิ่งที่คุณทำจะก่อผลสะเทือนไปถึงทุกสิ่งทั่วโลก เห็นไหมว่าถ้าเราเข้าใจวิทยาศาสตร์แล้วมาศึกษาพุทธศาสนา เราจะเข้าใจโลกและชีวิตได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ถ้าคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี คุณก็เป็นชาวพุทธที่ดีได้ และถ้าคุณรอบรู้พุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง คุณก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น