ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โสคราตีส:เจ้าแห่งการสนทนา

โสคราตีสและวิธีการของโสคราตีส ( Socratic Method )
ประวัติของโสคราตีสโดยสังเขป
โสคราตีส ( พ.ศ. ๗๓ - ๑๔๔ ) เกิดที่กรุงเอเธนส์ บิดาชื่อโซโฟรนิสคุส เป็นช่างแกะสลัก มารดาชื่อเฟนารีเต เป็นหมอตำแย โสคราตีสเรียนวิชาแกะสลักจากบิดาและประกอบอาชีพเจริญรอยตามบิดาอยู่ไม่นานก็เลิกเสีย ต่อมาเมื่อเอเธนส์ประกาศสงครามกับสปาร์ตา โสคราตีสสมัครเป็นทหารไปรบถึง ๓ ครั้ง ซึ่งโสคราตีสได้ชื่อว่าเป็นทหารที่ทรหดอดทนมาก
รูปกายของโสคราตีสไม่มีเสน่ห์มากนัก ปล่อยหนวดเครารุงรัง ชอบเดินเท้าเปล่า สวมเสื้อผ้าเก่าซ่อมซ่อ
โซคราตีสแต่งงานเมื่ออายุเกือบ ๕๐ ปี โดยมีภรรยาชื่อซานธิปปี มีบุตรด้วยกัน ๓ คน
โสครา ตีสไม่ได้ประกอบการงานอะไรเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว งานประจำวันของท่านคือพบปะประชาชน ทุกๆ เช้า โสคราตีสจะออกไปตามท้องตลาดหรือย่านชุมชนแล้วตั้งวงสนทนาขึ้นที่นั่น โดยสนทนากับผู้คนทุกประเภท ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็น การเมือง ศาสนา การแต่งงาน ความรัก และศึลธรรม โสคราตีสชอบสนทนากับผู้อ้างตัวเป็นนักปราชญ์ทั้งหลาย โดยเทคนิคการสนทนาของท่านมีชื่อว่า วิธีการของโสคราตีส
โสครา ตีสมีศิษย์เอกคือ พลาโต้ และศิษย์อีกคนที่นำความเดือดร้อนมาให้โสคราตีสคือ ครีเตียส โดยครีเตียสเป็นผู้นำรัฐบาลชุดสามสิบทรราช ซึ่งครองอำนาจหลังเอเธนส์แพ้สงครามแก่สปาร์ตา รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้รับความนิยมจีงถูกโค่นล้มในปีเดียว ภายหลังที่รัฐบาลทรราชถูกโค่นล้ม รัฐบาลชุดใหม่ไม่สามารถล้างแค้นกับคณะสามสิบทรราชได้โดยตรงเพราะได้มีการออก กฎหมายนิรโทษกรรมให้กับบุคคลเหล่านั้นแล้ว ดังนี้นจึงเบนเป้าไปที่กลุ่มบุคคลผู้เคยสนับสนุนคณะทรราช หรือแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย เนื่องจากครีเตียสเป็นศิษย์ของโสคราตีสและโสคราตีสคัดค้านประชาธิปไตยอันไร้ สติของเอเธนส์ประกอบกับโสคราตีสเองก็สร้างศัตรูไว้ด้วย ท่านจึงถูกฟ้องและนำขึ้นศาลเมื่อมีอายุได้ ๗๐ ปี และถูกตัดสินประหารชีวิต

ทฤษฎีความรู้ของโสคราตีส
อธิบายศัพท์
๑. สัญชาน คือ การรับรู้ที่เกิดจากการกระทบระหว่างประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย กับอายตนะภายนอกคือ ภาพ เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัส สัญชานเป็นความรู้ระดับผัสสะ ดังนั้นความรู้ระดับสัญชานจึงเป็นการรู้จักสิ่งเฉพาะ
๒. จินตภาพ คือ ภาพของสิ่งเฉพาะที่ปรากฎในใจ เป็นภาพที่เกิดจากการนึกถึงสิ่งที่เคยเห็นขึ้นมาในจิตใจ เช่น เมื่อเราเห็นภาพสุนัขตัวหนึ่งที่ปรากฎแก่สายตาเป็นสัญชาน ต่อมาเมื่อหลับตาแล้วนึกถึงภาพสุนัขตัวนั้น ภาพของสุนัขตัวนั้นที่เรานึกถึงเป็นจินตภาพ
๓. มโนภาพ คือ ความรู้เกี่ยวกับสิ่งสากล ซึ่งเป็นแก่นแท้ของสิ่งเฉพาะต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ประโยคที่ว่า โสคราตีสเป็นสิ่งที่ต้องตาย กับ มนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องตาย ประโยคแรกหมายถึงโสคราตีสซึ่งเป็นสิ่งเฉพาะ ส่วนประโยคที่สองหมายถึงมนุษย์โดยทั่วไปหรือมนุษย์สากล ซึ่งประโยคที่สองนี้กล่าวถึงมโนภาพของมนุษย์
สังเกตได้ว่า สัญชานและจินตภาพเป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งเฉพาะ ส่วนมโนภาพเป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งสากล
โสครา ตีสถือว่าเหตุผลเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ในปรัชญาของโสคราตีสเหตุผล ช่วยให้ค้นพบมโนภาพ ความรู้ทุกอย่างจึงเป็นความรู้ที่ได้มาจากมโนภาพ ซึ่งมโนภาพคือความรู้จักสิ่งสากล ดังนั้นความรู้ขั้นมโนภาพจึงเป็นความรู้ที่บุคคลทั่วไปยอมรับ เพราะมนุษย์มีเหตุผล เมื่อทุกคนใช้เหตุผลค้นพบมโนภาพของสิ่งสากลใดๆ มโนภาพของสิ่งสากลนั้นย่อมจะเหมือนกัน ซึ่งเป็นความจริงมาตรฐาน
ปัญหา คือ ทำอย่างไรจึงจะค้นพบมโนภาพของสิ่งทั้งหลาย คำตอบของโสคราตีสคือ เราจะค้นพบมโนภาพของสิ่งทั้งหลายได้ด้วยการสร้างคำจำกัดความ ( Definition ) ของสิ่งนั้น ทั้งนี้เพราะมโนภาพหมายถึงสิ่งเดียวกันกับคำจำกัดความ นั่นเอง
เมื่อ เราสามารถค้นพบมโนภาพของสิ่งต่างๆ ได้โดยการสร้างคำจำกัดความ ดังนั้นเมื่อโสคราตีสต้องการความรู้เรื่องใด ท่านก็จะขอให้คนสร้างคำจำกัดความเกี่ยวกับเรื่องนั้น ท่านจะตั้งปัญหาถามคนทั่วไปว่าสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนี้คืออะไร แล้วท่านก็จะเริ่มการสนทนาแบบถาม-ตอบเพื่อหาคำจำกัดความที่ถูกต้องของเรื่อง เหล่านั้น โดยท่านเรียกวิธีการถาม-ตอบของท่านว่า
วิธีการของโสคราตีส ( Socratic Method )

วิธีการของโสคราตีส ( Socratic Method )
วิธี การของโสคราตีสคือศิลปะการสนทนาที่โสคราตีสใช้ในการสนทนาเพื่อให้การสนทนา ดำเนินไปสู่คำตอบของปัญหาที่กำลังอภิปรายกัน วิธีนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า วิภาษวิธี ( Dialectic ) ซึ่งมีลักษณะ ๕ ประการคือ
๑.สงสัย โสคราตีสเริ่มต้นการสนทนาด้วยการยกย่องคู่สนทนาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง ที่ท่านเองก็ใคร่รู้อยู่พอดี เนื่องจากท่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ท่านจึงขอให้เขาตอบคำถามของท่านเกี่ยวกับเรื่องนั้น การออกตัวทำนองนี้ถือกันว่าเป็นการถ่อมตัวของนักปรัชญา
๒.สนทนา จากนั้นโสคราตีสก็เป็นฝ่ายตั้งปัญหาให้คู่สนทนาตอบ การสนทนาจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา คู่สนทนาจะต้องหาคำจำกัดความของหัวข้อที่สนทนากัน โสคราตีสจะวิจารณ์ว่า คำจำกัดความนั้นมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง อีกฝ่ายหนึ่งจะเสนอคำจำกัดความใหม่ที่ดูรัดกุมกว่า โสคราตีสจะขัดเกลาคำจำกัดความนั้นอีก การสนทนาจะดำเนินไปอย่างนี้ จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้คำจำกัดความที่น่าพอใจ
๓.หาคำจำกัดความ จุดมุ่งหมายของการสนทนาจึงอยู่ที่การหาคำจำกัดความที่ถูกต้อง โสคราตีสเชื่อว่า ถ้าเราพบคำจำกัดความที่ถูกต้องของสิ่งใด นั่นแสดงว่าเราพบความจริงแท้เกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเป็นอันเดียวกับการค้นพบมโนภาพของสิ่งนั้นนั่นเอง
๔.อุปนัย การสร้างคำจำกัดความจะเริ่มจากสิ่งเฉพาะไปสู่สิ่งสากล เช่น เมื่อหาคำจำกัดความของคำว่า สิทธิ โสคราตีสและคู่สนทนาจะพิจารณาตัวอย่างจากสิทธิต่างๆ ในสังคมแล้วดึงเอาลักษณะที่เป็นแก่นหรือที่เป็นสากลมาสร้างเป็นคำนิยาม
๕.นิรนัย คำจำกัดความที่มีผู้เสนอมาจะถูกพิสูจน์โดยการนำไปเป็นมาตรการวัดสิ่งเฉพาะ ต่างๆ ว่ามีลักษณะร่วมกับลักษณะที่ระบุไว้ในคำจำกัดความนั้นหรือไม่ เช่น ถ้าเราได้คำจำกัดความของ สิทธิ มาเราก็ต้องตรวจสอบดูว่า กรรมสิทธิ์ ถือเป็นสิทธิตามคำจำกัดความที่เราตั้งไว้หรือไม่เพียงใด

จะ เห็นได้ว่าวิธีการของโสคราตีสนั้นมีสิ่งที่สำคัญคือการถาม-ตอบ ซึ่งการถาม-ตอบเพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายคือการพัฒนาความรู้ได้นั้นก็ต้อง อาศัยวิธีการตั้งคำถามที่มีประสิทธิภาพ ไม่ถามอย่างไร้เหตุผล ดังนั้นคำถามจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากในวิธีการของโสคราตีส

คำถามแบบโสคราตีส ( Socratic Questioning )
คำถามแบบโสคราตีส คือ ระเบียบวิธีการตั้งคำถามสำหรับใช้ในการค้นหาความคิดในหลายๆ ทิศทางเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อค้นหาความจริงสากล เพื่อค้นหาความคิดที่ซับซ้อน เพื่อเปิดประเด็น ปัญหา เพื่อเปิดเผยสมมุติฐาน เพื่อวิเคราะห์แนวคิด เพื่อจำแนกสิ่งต่างๆ หรือเพื่อประยุกต์ความคิดอย่างมีตรรกะ ลักษณะของคำถามแบบโสคราตีสคือ เป็นคำถามที่เป็นระบบ มีระเบียบวิธีที่ชัดเจน มีความลึกและปกติจะพุ่งจุดศูนย์รวมไปที่แนวคิดพื้นฐาน หลักการ ทฤษฎี ประเด็นปัญหา หรือตัวปัญหา
คำถามแบบโสคราตีสมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาความคิด ดังนั้นจึงมีประโยชน์ในการเรียนการสอน ซึ่งในการเรียนการสอนนั้นสามารถใช้คำถามแบบโสคราตีสเพื่อวัตถุประสงค์อย่าง น้อย ๒ ประการคือ
๑.เพื่อเจาะลึกเข้าไปในความคิดของนิสิตนักศึกษา เพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาสามารถแยกแยะสิ่งที่ตนรู้หรือเข้าใจออกจากสิ่งที่ตนไม่รู้หรือไม่เข้าใจ
๒.เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการใช้คำถามแบบโสกราตีสให้แก่นิสิตนักศึกษา ให้นำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการถกเถียงแบบโสกราตีส ( Socratic dialogue ) ได้ ทั้งนี้เพื่อให้นิสิตนักศึกษาใช้เครื่องมือนี้ได้ในชีวิตประจำวัน ( สำหรับการถามตนเองและถามผู้อื่น )

อ้างอิง พระธรรมโกศาจารย์ ( ประยูร ธมฺมจิตโต ) .ปรัชญากรีก : บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก . ศยาม, ๒๕๕๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น