ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เป็นวัตถุประสงค์ที่ระบุว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถทำอะไรได้
หรือรู้อะไรหลังจากได้รับการฝึกอบรมแล้ว การแสดงความสามารถตามวัตถุประสงค์นี้ไม่จำกัดด้วยเวลายอม
ให้แต่ละคนเรียนตามความพร้อมของตนเอง และสนใจการเกิดทักษะหรือรอบรู้เนื้อหาและบรรลุวัตถุประสงค์
เชิงปฏิบัติ

วัตถุประสงค์พฤติกรรม กำหนดในลักษณะที่สามารถสังเกตผลการปฏิบัติได้ทั้งส่วนที่เป็นความรู้
และทักษะที่ต้องการในการปฏิบัตินั้นๆ วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมประกอบด้วย
1. บอกถึงทักษะหรือพฤติกรรมที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงออกหลังฝึกอบรมแล้ว
2. บอกเงื่อนไขที่ใช้ในการพิจารณาหรือประเมินผลการปฏิบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
3. บอกถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่สามารถยอมรับได้

หลักการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมแต่ละข้อควรเขียนสั้น ๆ แต่ให้ได้ใจความชัดเจน และมีความยาว
เพียงหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้น
2. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมแต่ละข้อจะระบุพฤติกรรมที่คาดว่าจะเกิดเพียงหนึ่งพฤติกรรม
3. พฤติกรรมที่ระบุในวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมแต่ละข้อต้องเป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้
ไม่ใช่สิ่งที่เป็นนามธรรม
4. คำที่ใช้ในการเขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมแต่ละข้อ ต้องเป็นคำที่มีลักษณะชี้เฉพาะ
เจาะจง ไม่ใช้คำที่มีความหมายกว้างจนยากแก่การตีความ
5. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมไม่ควรกำหนดเป็นหัวข้อย่อย ๆ หลายข้อเกินไป ควรจะเน้นที่
สำคัญ ๆ เท่านั้น
6. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมควรครอบคลุมลักษณะสำคัญ ๆ ของการเรียนรู้ทั้งในด้านความรู้
ทักษะ และความรู้สึกนึกคิด
7. วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมแต่ละข้อต้องระบุพฤติกรรมปลายทางที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยผู้รับ
การฝึก
วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม จำแนกได้เป็น 3 ด้าน คือ
1. ด้านความรู้หรือสติปัญญา (Knowledge) เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการพัฒนา
ทางสมอง หรือสติปัญญา โดยเริ่มตั้งแต่การที่บุคคลมีความสามารถในการจดจำเนื้อหา หรือข้อเท็จจริง
เกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ แล้วนำสิ่งที่รู้ (ความรู้) ไปสร้างให้เกิดความเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล
ในที่สุด แบ่งออกเป็น 6 ระดับ โดยเรียงลำดับจากที่ซับซ้อนน้อยที่สุดไปหามากที่สุด
1.1 ความรู้ ได้แก่ ให้ความหมายได้ บอกเรื่องราวได้ บอกชื่อได้ กล่าวเป็นถ้อยคำ
หรือข้อความได้ เลือกได้
1.2 ความเข้าใจ ได้แก่ แยกแยะได้ อธิบายได้ แปลความหมายได้ เปลี่ยนข้อความ
ได้ ให้เหตุผลได้ ขยายความได้ คาดคะเนได้ สรุปความได้ ย่อความได้ อ้างอิงได้ ยกตัวอย่างได้
ทำนายได้ เขียนข้อความใหม่ได้
1.3 การนำไปใช้ ได้แก่ ปฏิบัติได้ แสดงได้ เตรียมการได้ ผลิตได้ เปลี่ยนแปลงได้
สาธิตได้ คำนวณได้ แก้ปัญหาได้ ใช้สิ่งต่างๆ ได้ สัมพันธ์เรื่องราวได้ คิดค้นได้ ทำให้ดูได้
1.4 วิเคราะห์ ได้แก่ แยกแยะได้ จำแนกได้ แบ่งกลุ่มได้ อ้างอิงได้
1.5 สังเคราะห์ ได้แก่ รวบรวมได้ จัดกลุ่มได้ รวมกันได้ ประกอบสิ่งต่าง ๆ ได้
สร้างสรรค์ได้ อธิบายได้ จัดระเบียบใหม่ได้ วางแผนได้ สร้างใหม่ได้
1.6 ประเมินค่า ได้แก่ เกิดความซาบซึ้ง เห็นความแตกต่าง เปรียบเทียบได้ สรุป
ความได้ วิจารณ์ได้ บรรยายได้ แยกแยะได้ ตัดสินได้ อธิบายได้ แปลความได้ สัมพันธ์เรื่องราวได้
สรุปย่อได้

2. ด้านทักษะ (Psychomotor Domain) เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการพัฒนา
ทางด้านทักษะในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ที่บุคคลรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า รวมทั้งการ
เคลื่อนไหวด้วยกล้ามเนื้อแล้วเตรียมความพร้อมทางสติปัญญา ทางกาย และทางอารมณ์ที่จะปฏิบัติหรือ
ลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้นจึงตอบสนองโดยแสดงออกด้วยการเลียนแบบหรือลองผิดลองถูกจนเกิด
เป็นทักษะนิสัย และพัฒนาเป็นทักษะชั้นสูง โดยการตอบสนองสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น และสามารถแสดงการใช้
ทักษะที่ผสมผสานอย่างคล่องแคล่วและมั่นใจ พฤติกรรมที่แสดงว่ามีทักษะ อาจแสดงออกมาให้เห็นได้ดังนี้
2.1 แสดงได้ถูกลักษณะ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง นั่ง เดิน ฯลฯ
2.2 ปฏิบัติได้ถูกต้อง เช่น ตัด เย็บ ตอกตะปู เลื่อย ฯลฯ
2.3 แสดงความคล่องแคล่วให้เห็น เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า ทอผ้า ซ่อมจักร เย็บผ้า
ปะชุนเสื้อผ้า ฯลฯ

3. ด้านความรู้สึกนึกคิด (Affective Domain) เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการพัฒนา
ทางด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด และเจตคติ โดยเริ่มตั้งแต่ที่บุคคลรับประสบการณ์จากสิ่งหนึ่ง ๆ และเกิด
การรับรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้วตอบสนองและให้คุณค่าต่าง ๆ ในสิ่งที่ตนรับรู้ จากนั้นจึงนำสิ่งที่เป็นคุณค่าเหล่านั้น
มาจัดเรียงเป็นระบบแล้วสร้างเป็นลักษณะนิสัยหรือบุคลิกตามคุณค่า พฤติกรรมที่แสดงทัศนคติ อาจแสดง
ออกได้ดังนี้
3.1 การยอมรับ ได้แก่ สอบถาม เลือก ตอบ ชี้ประเด็น ยึดถือ
3.2 การตอบสนอง ได้แก่ ตอบ นำเสนอ ต้อนรับ รายงาน เลือก บอก
3.3 การสร้างคุณค่า ได้แก่ ชี้ความแตกต่าง พิสูจน์ มีส่วนร่วม ทำตาม ริเริ่ม
3.4 การจัดระบบ ได้แก่ รวม เปรียบเทียบ เปลี่ยนแปลง ผสม ผสาน จัด
3.5 การสร้างลักษณะตามคุณค่า ได้แก่ ถาม ฟัง ใช้ หลากหลาย กระทำ คุณภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น