ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

จรรยาบรรณนักวิจัย

สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติได้กำหนดจรรยาบรรณนักวิจัยไว้ 9 ข้อดังนี้
1.นักวิจัยต้องซื่อสัตย์ และมีคุณธรรมในทางวิชาการ และการจัด
นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ต้องให้เกียรติ และอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในงานวิจัย ต้องซื่อสัตย์ต่อการแสวงหาทุนวิจัย และมีความเป็นธรรมเกี่ยวผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย
2.นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำงานวิจัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย และต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด
นักวิจัยต้องปฏิบัติตามพันธกรณี และข้อตกลงการวิจัยที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน อุทิศเวลาทำงานวิจัยให้ได้ผลที่ดีที่สุด และเป็นไปตามกำหนดเวลา มีความรับผิดชอบ ไม่ละทิ้งงานระหว่างดำเนินงาน
3.นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาที่ทำวิจัย
นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอ และมีความรู้ ความชำนาญ หรือมีประการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย เพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ การตีความ หรือการสรุปที่ผิดพลาดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่องานวิจัย
4.นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
นักวิจัยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และเที่ยงตรงในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกและมีปณิธานที่จะอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
5.นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย
นักวิจัยต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ในทางวิชาการ จนละเลยและขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของการวิจัยบุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่างโดยไม่หลอกลวงหรือบีบบังคับ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
6.นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย
นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่าอคติส่วนตน หรือความลำเอียงทางวิชาการ อาจส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อมูลและค้นพบทางวิชาการ อันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายต่องานวิจัย
7.นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ
นักวิจัยพึงเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและสังคม ไม่ขยายผลข้อค้นพบจนเกินความเป็นจริง และไม่ใช้ผลงานวิจัยไปในทางมิชอบ
8.นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น
นักวิจัยพึงมีใจกว้าง พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนการวิจัย ยอมรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลทางวิชาการของผู้อื่นและพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยของตนให้ถูกต้อง
9.นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ
นักวิจัยพึงมีจิตสำนึกที่จะอุทิศกำลังสติปัญญาในการทำวิจัย เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อความเจริญและประโยชน์สุขของสังคมและมวลมนุษย์ชาติ



***เจตนารมณ์ในการออก จรรยาบรรณนักวิจัย คราวนี้ เชื่อว่ามิได้หวังว่าจะให้ใช้เฉพาะข้าราขการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติเท่านั้น หากแต่นักวิจัยจากทุกวงการควรจะยึดถือเป็นแนวทางอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยที่ชอบสำรวจความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งถูกครหาว่าเป็นมือมืนรับจ้างควรคำนึกให้มากไว้***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น