เทคนิคการเขียนตำราและหนังสือวิชาการ
โดย ศาสตราจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การเตรียมการก่อนเขียนตำรา
1. แรงจูงใจในการเขียนตำรา
1.1 ความสำคัญของแรงจูงใจ
แรงจูงใจที่จะให้ทำงานยากและต้องอดทนอย่างการเขียนตำราได้สำเร็จจะต้องเป็นแรงจูงใจที่มีพลังมาก จึงจะสามารถเอาชนะความเกียจคร้าน ท้อถอยและเบื่อหน่วยซึ่งบั่นทอนมิให้เขียนตำราสำเร็จได้ แรงจูงใจที่เกิดจากความต้องการเงินทองกับแรงจูงใจที่เกิดจากใจรักจะให้ผลต่างกันมากในด้านคุณภาพงาน การทำงานอย่างต่อเนื่องและความทุ่มเทในการทำงาน
1.2 แรงจูงใจประเภทต่าง ๆ
1.2.1 แรงจูงใจที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหา มักจะเกิดจากความบกพร่องของตัวผู้เขียนตำรา แต่ได้นำความบกพร่องมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ภาษาจิตวิทยาเรียกว่าการทดเทิด คือ ทดแทนความบกพร่องนั้นด้วยสิ่งที่ดี
1.2.2 แรงจูงใจที่เป็นการสนองความปรารถนาบางอย่าง ได้แก่ ตำแหน่งทางวิชาการ เงินทอง ชื่อเสียง ความจำเป็น การสร้างและการเผยแพร่ความรู้
2. ความกล้า
แรงจูงใจทำให้เกิดความอยากเขียน แต่หลายคนมีเพียงความอยากและไม่ได้ลงมือเขียนเพราะขาดความกล้า ความกล้าเป็นเครื่องทำลายความกลัว
วิธีที่จะขจัดความกลัวและทำให้เกิดความกล้าคือสร้างเจตคติที่จะเป็นกำลังใจแก่ตัว ผู้ที่เริ่มเขียนจะกล้าเขียนต้องหาคำพูดปลอบใจแต่ต้องเป็นการปลอบใจให้ทำงาน ไม่ใช่ปลอบใจว่าอย่าทำเลย ตัวอย่างต่อไปนี้
- ทำผิดแก้ไขได้ ถ้าทำแล้วผิดก็เป็นการทำความผิดครั้งแรก กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว ต้องการฝึกเท่านั้นแหละ เขียนเอาไว้อ่านเองก็ได้ ไม่รีบเขียนคนอื่นจะแย่งเขียนหมด สิ่งที่ได้จากการอ่านและความคิดดี ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ถ้าไม่เขียนอีกไม่นานก็จะลืม เป็นต้น
3. เวลา สำรวจเวลา จัดการให้มีเวลาให้ได้ กำหนดตารางเวลาการทำงาน
การกำหนดตารางเวลาการทำงานอาจทำดังนี้
- แบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยๆ กำหนดเวลาทั้งหมดที่จะใช้ทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ กำหนดเวลาที่จะทำงานส่วนย่อยๆ แต่ละส่วนโดยให้เวลาทั้งหมดรวมกันไม่เกินเวลาทั้งหมดที่จะใช้ทำงานจนสำเร็จ กำหนดเวลาสำหรับชดเชยความล่าช้าไว้ด้วย
4. การกำหนดจุดมุ่งหมายของตำราและการสร้างแนวคิด
4.1 จุดมุ่งหมายของตำรา
เราเขียนตำราให้ผู้อื่นอ่าน “ผู้อื่น” ที่ว่านี้มีหลายกลุ่ม หลายระดับ และตำราก็มีหลายแบบ ในเบื้องต้นผู้เขียน จึงต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของตำราที่จะเขียนอย่างกว้างๆ โดยจะต้องกำหนดสิ่งต่อไปนี้ให้ชัดเจน คือ
4.1.1 ระดับของผู้อ่าน ผู้อ่านที่มีระดับความรู้และความสนใจต่างกันจะต้องการตำราที่ต่างกัน
4.1.2 ประเภทของตำรา ตำรามีหลายประเภท จุดมุ่งหมายจะเป็นตัวกำหนดประเภทของตำราว่าเราจะเขียนตำราประเภทใด
4.1.3 ลักษณะการเขียน ประเภทของตำราจะเป็นตัวกำหนดลักษณะงานเขียนว่าเราจะต้องเขียนอะไร อย่างไร
4.1.4 ลักษณะการใช้ ต้องชี้แจงให้ผู้ใช้ทราบในคำนำ เช่น ผู้เรียนสามารถอ่านได้เองทั้งหมด ต้องมีผู้สอน ชี้ประเด็น ใช้ประกอบกับตำราอื่น เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ผู้เขียนตำราจะต้องเข้าใจชัดเจนก่อนเขียน
4.2 การสร้างแนวคิดหรือมโนทัศน์
ตรงกับคำว่า Concept ในภาษาอังกฤษ เนื้อหาอย่างเดียวกันอาจเข้าใจต่างกันได้หากใช้มโนทัศน์ต่างกัน ตำราก็เช่นกัน มีวิธีมองจากมโนทัศน์ทางวิชาการในสาขานั้นๆ อยู่แล้ว แต่มโนทัศน์ที่ว่านี้อาจแตกต่างกันไปได้ จะเหมือนกันก็ในระดับพื้นๆ แต่ในระดับลึกแล้ว นักวิชาการอาจมีมโนทัศน์ใหม่ๆ มาพิจารณาเนื้อหาได้ หากใครเลือกมุมมองซ้ำ การดำเนินเรื่องซ้ำก็ไม่มีใครอ่านเพราะไม่มีอะไรน่าสนใจ ผู้เขียนตำราจึงต้องมีมโนทัศน์ใหม่ มีการตีความเนื้อหาใหม่ ลำดับเนื้อหาใหม่และทำให้เห็นประโยชน์ใหม่ๆ การหาแนวคิดควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
4.2.1 สำรวจความรู้และความสามารถในการหาความรู้
นอกจากความรู้ที่มีอยู่แล้วเราต้องรู้แหล่งความรู้โดยเฉพาะความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องนั้น ต้องกำหนดได้ว่าเราจะสามารถหาความรู้ได้เพียงพอที่จะเขียนในเวลาเท่าไหร่ และใครที่จะช่วยหาความรู้ได้บ้าง นอกจากนั้นเราอาจพึ่งผู้ช่วยจากหน่วยงานที่เป็นแหล่งความรู้เช่น แผนกช่วยค้นคว้าของห้องสมุด หรือสำนักงานสารสนเทศต่างๆ
4.2.2 การกำหนดจุดเด่นของตำรา
ตำราระดับอุดมศึกษา ควรจะมีจุดเด่นซึ่งจะทำให้ตำราของเราต่างกับของคนอื่น เราควรหาแนวคิดใหม่ในการเขียนตำรา จึงจะทำให้ตำราของเราน่าสนใจ แนวคิดใหม่เป็นเรื่องหนึ่งของความใหม่ เราอาจหาความใหม่ในแง่อื่นๆ ได้อีก เช่น วิธีศึกษาใหม่ แง่มองใหม่ ข้อมูลใหม่ การตีความใหม่ สมมติฐานใหม่ หรือการเชื่อมโยงกับสาขาวิชาอื่นซึ่งผู้อื่นยังไม่ได้ทำมาก่อน
5. การตั้งชื่อเรื่องให้ชวนอ่าน
5.1 ชื่อเรื่องที่ยากจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ
5.2 ชื่อเรื่องยาวเกินไปไม่ติดหู
5.3 ชื่อเรื่องเป็นภาษาพูด ชื่อเรื่องควรใช้ภาษาแบบแผนเช่นเดียวกับเนื้อหาของตำรา เช่น ไม่ควรตั้งชื่อหนังสือ บาสเกตบอล ว่า ยัดห่วง เป็นต้น
5.4 ชื่อเรื่องที่เป็นชื่อรหัสวิชา อาจใช้ได้เฉพาะในสถาบันแต่ละแห่งที่เป็นเจ้าของรหัสวิชานั้น ชื่อชนิดนี้จึงใช้สำหรับผู้อ่านภายนอกไม่ได้และเป็นชื่อที่ไม่ถาวร เราควรตั้งชื่อตามเนื้อหามากกว่า
5.5 ชื่อเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ตั้งชื่อโดยระบุกลุ่มเป้าหมาย ตั้งชื่อโดยขยายขอบเขตของกลุ่มเป้าหมาย ตั้งชื่อให้รู้สึกว่าง่าย ตั้งชื่อสนองความปรารถนาของผู้อ่าน ตั้งชื่อแสดงความทันสมัย ตั้งชื่อชี้ข้อบกพร่อง
ที่มา : เทคนิคการเขียนและผลิตตำรา . ปรีชา ช้างขวัญยืนและคณะ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 4548.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น